มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเพื่อพลิกโฉมการแพทย์ไทย ด้วยการผสมผสานกระบวนการคิด Design Thinking กับการวิจัยทางการแพทย์ มุ่งสร้างนวัตกรรมที่ล้ำหน้า
มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” ครั้งแรกที่รวบรวมนักนวัตกรรมระดับโลก, ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ, และนักวิจัยทางการแพทย์เพื่อพลิกโฉมการแพทย์ไทย โดยใช้กระบวนการ Systematic Framework ที่สามารถสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นโครงการระดมทุนเพื่อการรักษามะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัดกองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืนมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตยาแบบ Cell and Gene Therapy หรือ MU-Bio Plant ซึ่งจะผลิตยา ATMP (ยาจากเซลล์ที่มีชีวิต) เป็นแห่งแรกของประเทศไทยเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต
ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกเพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบในโลกแห่งความจริง ภายในงานมีการบรรยายจาก Prof. Steven Eppinger แห่ง Massachusetts Institute of Technology ที่มาให้มุมมองและสร้างแรงบันดาลใจในด้านการคิดเชิงนวัตกรรม ผ่านกระบวนการ Systematic Innovation อีกทั้งยังมีการเสวนาจากคุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่กล่าวถึงการใช้ Innovation ในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ในหัวข้อ ‘Empowering Thailand’s Economy Through Innovation’
ภายในงานมีกูรูด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิด (Design Thinking) ชั้นนำของโลก Prof. Steven Eppinger, Massachusetts Institute of Technology, Sloan School of Management มาเปิดมุมมองและ สร้างแรงบันดาลใจในด้านทักษะกระบวนการคิดและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ Systematic Innovation through Human-Centered Design ซึ่งนอกจากการบรรยาย ยังเปิดโอกาสช่วงถามตอบ เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงใจผู้สนใจ ให้ได้มากที่สุด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนา
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่องการพลิกโฉมการแพทย์ไทยด้วยนวัตกรรมในการรักษามะเร็ง โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจะอธิบายถึงการพัฒนาและการทดสอบผลิตภัณฑ์ยาในการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัด ในหัวข้อ ‘Revolutionizing Thai Healthcare Through Innovation: นวัตกรรมพลิกอนาคตวงการแพทย์ไทย’ ในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการทดสอบการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์บำบัดแทนเคมีบำบัด และการสร้างโอกาสในการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ในอนาคต
ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของการวิจัย CAR T-Cell ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ใช้รักษามะเร็งโดยเซลล์และยีนที่มีการใช้แล้วในผู้ป่วยจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่
มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ก่อตั้ง ‘กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน’ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและโลก การตั้งโรงงานยาที่มีชีวิต MU-Bio Plant คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรักษามะเร็งในประเทศไทย ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยในราคาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่เบอร์โทร 082-526-5501 หรือทาง Facebook และ Line: @mufoundation