โควิด XBB.1.16 มีอาการไข้สูง และเยื่อบุตาอักเสบ เป็นหนึ่งในอาการที่ไม่พบบ่อยในโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ แต่พบในโควิด XBB.1.16 โควิดสายพันธุ์นี้ “มีฤทธิ์ต้านทาน” แอนติบอดีโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อวานที่ผ่านมา (16 เม.ย. 2566) ว่า
สิ่งที่ควรระวังคือ ลักษณะอาการของ XBB.1.16 นั้นยังไม่แน่ชัดว่าแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมมากน้อยเพียงใด
ข่าวจากอินเดียที่ระบุว่ามีอาการไข้สูง และเยื่อบุตาอักเสบนั้น เป็นรายงานจากการสังเกตอาการในผู้ป่วยเด็ก อย่างไรก็ตาม เท่าที่สืบค้นดู ยังไม่เห็นรายงานวิชาการที่รวบรวมสถิติอาการเปรียบเทียบออกมาอย่างเป็นระบบที่แน่ๆ และมีหลักฐานเป็นรายงานวิชาการออกมาเผยแพร่แล้วคือ
ผลพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการ ที่ชี้ชัดว่า XBB.1.16 มีสมรรถนะการแพร่ที่สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 โดยที่สมรรถนะดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กัน ซึ่งถือว่าตระกูล XBB.x นั้นถือว่าดื้อสุดเท่าที่มีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ มาหลายปี
นอกจากนี้สถิติระบาดในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย สะท้อนชัดว่าติดกันเร็วและมาก โดยทำให้อัตราการตรวจพบผลบวกในผู้ที่มาตรวจนั้นสูงมากกว่าระลอกที่ผ่านมาด้วย (Cr: Weiland J)
ข้อสรุปที่เราได้จากองค์ความรู้ตอนนี้คือ มีโอกาสติดง่ายขึ้น มากขึ้น และพึงระวังเสมอว่า การติดแต่ละครั้งนั้นทำให้ป่วยได้ รุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย
การป้องกันตัวสม่ำเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ทำได้ด้วยตนเองและเกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างในสังคม ไม่ควรไปปรามาสว่าหวัดธรรมดา กระจอก ไม่กลัว กลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส เพราะเป็นตรรกะวิบัติ
การใช้ชีวิต ทำงาน เรียน เที่ยว อย่างมีสติ ป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ เป็นวิถีปฏิบัติที่ไม่ได้ยากลำบากอะไรเลย แต่กลับเกิดผลดีต่อตัวเราและทุกคน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน จะได้ไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องรำพึงรำพันว่า "ไม่น่าเลย...รู้งี้" โดยไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนกลับไปได้แม้จะอยากเพียงใด
ด้วยความปรารถนาดี
วันที่ 17 เมษายน 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น
ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในประเทศอินเดีย มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป
โดยทางบีบีซีไทยรายงาน โควิดสายพันธุ์ XBB.1.1.16 หรือที่เรียกว่า “อาร์คตูรุส” เป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า กำลังสังเกตการณ์สายพันธุ์นี้ เพราะ “มีศักยภาพสูงทำให้จำเป็นต้องเฝ้าระวังให้ดี”
องค์การอนามัยโลกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า ตรวจพบผู้ป่วยสายพันธุ์ XBB.1.1.16 แล้วกว่า 800 คน ใน 22 ประเทศ ส่วนใหญ่ในอินเดีย และแทนที่สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปัจจุบันอื่น ๆ ก่อนที่จะเพิ่มเป็นกว่า 3,000 คนทั่วโลก จนถึงกลางเดือน เม.ย.
โควิด XBB.1.16 มีคุณลักษณะคล้ายสายพันธุ์ XBB.1.5 แต่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมที่หนามโปรตีน ซึ่งผลการทดลองในห้องแลบพบว่า ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ทำและมีโอกาสทำให้เกิดอาการของโรคได้ง่ายขึ้น
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวในญี่ปุ่นพบว่า โควิด XBB.1.16 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 ราว 1.17-1.27 เท่า พร้อมยอมรับว่า โควิดสายพันธุ์นี้มีศักยภาพที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการทดสอบยังพบว่า โควิดสายพันธุ์นี้ “มีฤทธิ์ต้านทาน” แอนติบอดีโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน