Southeast Asia Access to Medicines Summit เปิดฉากเดินหน้าสู่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงยาและการรักษา

Southeast Asia Access to Medicines Summit เปิดฉากเดินหน้าสู่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงยาและการรักษา
เครือข่ายพันธมิตรระดับโลกและระดับภูมิภาคร่วมกันผลักดันแนวทางแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็น ผ่านกรอบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม 5 ด้าน

การประชุม Southeast Asia Access to Medicines Summit จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่าง ACCESS Health International, Asian Venture Philanthropy Network (AVPN), SingHealth Duke-NUS Global Health Institute และ บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด ผู้นำด้านชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม การประชุมครั้งนี้รวบรวมตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) สถาบันการศึกษา กลุ่มตัวแทนผู้ป่วย และภาคประชาสังคม เพื่อหารือแนวทางลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาและการรักษา พร้อมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในภูมิภาค

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าความคืบหน้าในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2019 หลายประเทศยังคงเผชิญปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ รวมถึงช่องว่างสำคัญในกระบวนการคัดกรอง วินิจฉัย และการรักษา ซึ่งการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาและยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เสียงสะท้อนจากผู้ป่วยและแนวทางแก้ไข

นางสาวศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า “การเป็นผู้ป่วยมะเร็งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฉันตระหนักว่าความท้าทายของผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงโรคภัย แต่รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูง สิทธิในการเข้าถึงยา และการได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่ต้องอาศัยการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ฉันเชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนควรได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบสาธารณสุขไทยในระยะยาว”

ด้าน นางอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าวเสริมว่า “การรับฟังเสียงของผู้ป่วยและใช้ข้อมูลประสบการณ์การรักษา (Patient Experience Data) เป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงนโยบายด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนต้องขยายขอบเขตไปสู่การเข้าถึงยาสำหรับโรคหายาก ซึ่งมีราคาสูงและไม่สามารถใช้เกณฑ์พิจารณาเดียวกับยาทั่วไปได้”

การร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อขจัดอุปสรรค

นายดิออน วอร์เรน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าระบบสาธารณสุขจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงยา เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อขจัดปัญหานี้ ภายใต้กลยุทธ์ Takeda Access to Medicine เรามุ่งเน้นการจัดหา การเข้าถึง และการพัฒนาศักยภาพระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น”

Southeast Asia Access to Medicines Pledge – กรอบคำมั่นสัญญาเพื่ออนาคต

หัวใจสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ Southeast Asia Access to Medicines Pledge ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายพันธมิตร เพื่อผลักดันการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก ได้แก่

  • พัฒนาระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุม โดยระดมความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การรักษาและยามีความเท่าเทียม
  • ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อหาแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคที่เป็นปัญหาในภูมิภาค
  • ผลักดันนโยบายจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ลดอุปสรรคและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเข้าถึงยา
  • ให้ความสำคัญกับเสียงของผู้ป่วย โดยทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพื่อให้พวกเขามีบทบาทในการตัดสินใจ
  • กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ เพื่อติดตามความคืบหน้าและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

การประชุม Southeast Asia Access to Medicines Summit ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาและยาได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

TAGS: #SoutheastAsiaAccesstoMedicinesSummit #สาธารณสุข #WHO