อาการอิ่มเร็ว หรือรับประทานอาหารได้ไม่กี่คำก็อิ่ม อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร และโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง
อาการอิ่มเร็วเป็นอาการที่ใครหลายคนมองข้าม ความรู้สึกอิ่มหลังจากรับประทานอาหารไปเพียงไม่กี่คำ บางคนอาจรู้สึกคลื่นไส้และอยากอาเจียน อาการอิ่มเร็วอาจไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วง หากไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เฟซบุ๊ก Mahidol Channel เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ อาการอิ่มเร็วที่ทำให้เกิด จุดเริ่มต้นเสี่ยงต่อ 5 กลุ่มโรคร้าย
ใครเคยรับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็วกว่าปกติบ้าง ทั้ง ๆ ที่ก่อนรับประทานก็รู้สึกหิวมาก อาการแบบนี้อาจทำให้เราเผลอเข้าใจว่ากระเพาะเล็กลง หากใครเคยมีอาการแบบนี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่กำลังบอกให้เรารู้ว่าร่างกายกำลังเผชิญกับโรคร้ายบางอย่างอยู่
1. ระบบทางเดินอาหารมีความผิดปกติ
อาจเกิดมาจากโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการเจ็บเวลากลืนหรือรับประทานอาหาร หรืออาจเกิดจากโรคเบาหวานที่ส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
2. กลุ่มโรคทางระบบประสาทและสมอง
โรคที่พบได้ คือ โรคพาร์กินสัน ทำให้ให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการกลืน เนื่องจากการสั่งงานของระบบประสาทที่ผิดปกติไป
3. กลุ่มโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
อาจเกิดจากโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารโดยตรงหรือมะเร็งชนิดอื่นก็ได้ เซลล์มะเร็งจะหลั่งสารเคมี ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากอาหาร สำหรับมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งจะอยู่ในทางเดินอาหาร กระเพาะและลำไส้ของผู้ป่วยจึงเล็กลง เมื่อทานอาหารจึงอิ่มนาน หรือทำให้เบื่ออาหาร
4. กลุ่มโรคทางจิตเวช
ผู้ป่วยอาจเป็นโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือโรคกลัวการกินอาหาร เพราะกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) เมื่อรับประทานอาหารจึงอิ่มเร็วขึ้น
5. กลุ่มที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาหลายชนิดอาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่ออาหาร อิ่มเร็วขึ้น เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากยารักษาโรคมะเร็ง
อิ่มเร็วแบบไหนเสี่ยงโรคร้าย
1. อิ่มเร็ว ร่วมกับ คลื่นไส้อาเจียน
2. อิ่มเร็ว ร่วมกับ อาการปวดท้อง
3. อิ่มเร็ว ร่วมกับ มีไข้ตัวร้อน
4. อิ่มเร็ว ร่วมกับ กลืนติด กลืนลำบาก
5. อิ่มเร็ว ร่วมกับ ขับถ่ายอุจจาระปนเลือด
หากมีอาการอิ่มเร็วร่วมกับ 5 สัญญาณเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ หารับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป ข้อมูลโดย ผศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
อาการอิ่มเร็วมีความคล้ายคลึงกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง และเบื่ออาหาร แพทย์จึงต้องซักถามประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดและวัดน้ำตาลในเลือดเป็นอันดับแรก หากพบอาการอื่นร่วมด้วย แพทย์อาจจัดการทดสอบเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- Upper Gastrointestinal Series (UGI) เพื่อตรวจหาสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานน้อยลงด้วยการเอกซเรย์
- การส่องกล้องกระเพาะอาหารส่วนต้น (Upper Endoscopy) เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไป
- การสแกนอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อตรวจอวัยวะต่างๆ ในท้อง
- การตรวจอุจจาระเพื่อหาภาวะเลือดออกในลำไส้
- Gastric Emptying Scintigraphy เพื่อติดตามว่าอาหารออกจากกระเพาะไปยังลำไส้ได้เร็วเพียงไหน
- SmartPill เพื่อดูว่าอาหารแล่นผ่านระบบย่อยได้เร็วเพียงไหน
- การทดสอบ Gastric Emptying Breath เพื่อคำนวณว่ากระเพาะอาหารใช้เวลากำจัดอาหารได้เร็วเพียงใด
อิ่มเร็ว แก้ได้อย่างไรบ้าง? เว็บไซต์ hd เผยการรักษาอาการอิ่มเร็วจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้มากขึ้น ด้วยการรับประทานมื้อเล็กลงแต่บ่อยครั้งในแต่ละวัน
- ลดปริมาณใยอาหารและไขมันที่รับประทานเข้าไป เพราะอาจเป็นสิ่งที่ชะลอกระบวนการย่อย
- รับประทานอาหารเหลวให้มากขึ้น
- รับประทานของที่กระตุ้นความอยากอาหาร
- รับประทานยาบรรเทาอาการไม่สบายท้อง เช่น Metoclopramide Antiemetics หรือ Erythromycin
หากอาการอิ่มเร็วที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเล็กต่างๆ เช่น
- การกระตุ้นกระเพาะอาหารด้วยไฟฟ้า (Gastric Electrical Stimulation) ที่จะส่งแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าไปยังกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียน
- การป้อนอาหารเหลวทางสายยาง จากจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร
- Total Parenteral Nutrition (TPN) กระบวนการที่ใช้สายสวนแทงเข้าไปในหลอดเลือดดำที่หน้าอกเพื่อฉีดสารอาหารเหลวเข้าไป
- Jejunostomy การสอดท่อส่งอาหารข้ามกระเพาะอาหารออกไปด้วยการฉีดสารอาหารเข้าไปในส่วน Jejunum ของลำไส้เล็ก (สำหรับกรณีที่เป็นรุนแรงมาก)