เปิดมุมมองใหม่ TRR Group กับแนวคิดธุรกิจที่ขับเคลื่อนสังคม ผ่านโครงการศิลปะเพื่อเด็กออทิสติก ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการบำบัดและสร้างอาชีพให้กับเด็กออทิสติก
TRR Group หรือ กลุ่มไทยรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักในฐานะธุรกิจน้ำตาลเอกชนรายแรกของไทย แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือแนวคิดขององค์กรที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงผลกำไร แต่ยังให้ความสำคัญกับ สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือกับ Artstory By Autistic Thai วิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำศิลปะมาใช้เป็นเครื่องมือในการบำบัดและสร้างอาชีพให้เด็กออทิสติก
จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากความประทับใจส่วนตัวของ ณิชา อัษฎาธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำตาลและอาหาร TRR Group ที่ได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์จาก Artstory By Autistic Thai และรู้สึกว่าผลงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่สวยงาม แต่ยังสามารถใช้งานได้จริง ความรู้สึกชื่นชมนี้นำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
ณิชา อัษฎาธร เล่าให้เราฟังว่า “เริ่มจากตัวเนสเองได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์จาก Artstory By Autistic Thai จากงานแฟร์นึง แล้วรู้สึกชอบมาก เพราะรู้สึกว่าสามารถใช้งานได้จริงทั้งหมด ทำให้เนสอยากทำความรู้จักที่นี่ ถือว่าโครงการนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจะสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร เราแค่ชอบที่นี่และอยากให้ทุกคนรู้จักด้วย ที่สำคัญเนสชอบสโลแกนของเขา “It's Ok To Be Different” เพราะอยากให้เห็นว่าทุกคนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน และยิ่งในสังคมที่คอยบอกเราว่าต้องทำ ต้องเป็นอะไรถึงจะถือว่าดีแล้ว การยอมรับความแตกต่างของคนอื่น และปรับตัวเข้าหากันนั้นดีกว่า พอเราชอบแนวความคิดนี้เลยติดต่อมาที่นี่ค่ะ”
ในส่วนฝั่ง Artstory By Autisticthai นายวรัท จันทยานนท์ กรรมการผู้จัดการ Artstory By Autistic Thai กล่าวว่า “ผมดีใจมากครับที่คุณเนสเห็นผลงานน้องๆ แล้วชอบมาก อยากสนับสนุนพวกเรา โดยทางคุณเนสเริ่มติดต่อมาหาเรา เริ่มแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดเรื่องโรงงานทั้งหมดให้น้องๆ เข้าใจได้อย่างไร ทั้งเล่าให้ฟัง ทั้งนำรูปภาพมาให้น้องๆ ดู เพราะปกติเราจะทำงานศิลปะกันในห้อง แต่คิดว่าอาจจะทำให้น้องๆ ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดี เราเลยมีโครงการนี้เกิดขึ้น ทาง กลุ่มไทยรุ่งเรือง และ Artstory By Autistic Thai จึงชวนน้องๆ ไปเที่ยวชมโรงงานจริงๆ กัน โดยมีทั้งหมด 30 คนที่ได้ไปที่โรงงานเพื่อให้เข้าใจกันอย่างดี และได้แรงบันดาลใจกลับมาสร้างสรรค์ผลงาน”
การมีส่วนร่วมของพนักงานและผลลัพธ์ที่เกินคาด
ณิชากล่าวว่า “ครั้งแรกที่เราคุยกับ Artstory ว่าชวนน้องๆ มาที่โรงงานกันเพื่อได้เข้าใจ และเห็นของจริง ถ้าจะมีถาพออกมาก็จะออกมาจากสิ่งที่น้องๆ ได้เห็นและอยากสื่อสารออกมา และผลลัพย์คือทุกภาพสวยมาก และถ่ายทอดออกมาได้ดีจริงๆ เกินความคาดหมายมาก โดยภาพทั้งหมดมี 4 ภาพ แต่เราใช้ภาพแรกบนผลิตภัณฑ์เซ็ตแรกก่อนในการแจกให้กับคู่ค้าของเรา ส่วนอีก 3 ภาพนั้นอาจจะใช้บนผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเราไม่ได้มีแผนในการทำขายแต่อย่างใด เพราะว่าจริงๆ แล้วเนสอยากทำความรู้จักน้องๆ แล้วก็อยากให้น้องๆ มาสะท้อนภาพว่าจริงๆ แล้วจากมุมมองคนอื่น ภาพของโรงงานเรานั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราสร้างให้คนอื่นเห็นเฉยๆ และแต่ละคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน”
“แค่อยากรู้ว่าน้องๆ เห็นอะไรในตัวเรา ไม่ใช่ในแง่มุมที่เราอยากสื่อออกไป” ณิชากล่าวเสริม
ณิชาเล่าถึงโครงการในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวว่า “หลังจากที่ให้น้องๆ มาโรงงานทำความรู้จักเราแล้ว เราก็อยากให้พนักงานของเราได้มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน รอบสองเราเลยให้พนักงานมาร่วมกิจกรรมกับน้องๆ และกลายเป็นว่าทุกคนชอบมาก อยากให้น้องๆ กลับมาอีก ซึ่งโดยปกติเราจะมีกิจกกรรมให้พนักงานทำอยู่เรื่อยๆ และกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ทุกคนพูดว่าถ้าไม่มีน้องๆ มาช่วยพวกเขาก็ไม่รู้จะถ่ายทอดออกมาอย่างไร รูปที่ทุกคนร่วมกันทำเราเอาไปแขวนไว้ตามแผนก ผลดีอีกอย่างที่ตามมาจากกิจกรรมคือ พนักงานมีการสื่อสารกันมากขึ้น เพราะเราคละคนจากทุกแผนกในแต่ละกลุ่ม ดังนั้นภาพหนึ่งภาพจะมีสิ่งที่สะท้อนตัวพวกเขา”
วรัทกล่าวเสริมว่า “เรามีเวิร์กชอปที่เกิดจากความบังเอิญ และเราก็ต้องการให้น้องๆ ได้พัฒนาตัวเอง เช่น น้องบางคนไม่กล้าที่จะสื่อสารกับคนอื่น บางคนพูดเก่งมาก บางคนก็ไม่พูดเลย เมื่อได้เห็นเพื่อนๆ ได้พูดคุยกับคนอื่นมันทำให้พวกเขากล้าที่จะพูดกับคนอื่นขึ้นมาบ้าง และยังเจอคนจากหลายเจนเนอเรชั่นอีกด้วยถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ถือว่าเป็นข้อดีของงานศิลปะ ที่สามารถช่วยถ่ายทอดความคิด และยังปรับความเข้าใจของคนให้รู้จักและเข้าใจกลุ่มเด็กเหล่านี้ มันช่วยเติมชีวิตชีวาสร้างสีสัน และยังสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กรได้”
จากโครงการเล็กๆ สู่แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่
วรัทกล่าวต่อว่า “เราช่วยส่งเสริมให้น้องๆ มีสกิล สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีอาชีพได้ในอนาคต เราอยากเป็นต้นแบบให้กับวิสาหกิจชุมชน เพราะเราเป็นโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ จุดเริ่มต้นของเรานั้นเกิดมาจากมูลนิธินี้ เราเริ่มฝึกซอฟท์สกิล ให้น้องน้องใช้ชีวิตในอนาคตที่เขาอาจจะไม่มีคนคอยดูแลเขา แต่ถ้าในระยะยาวที่เด็กๆ ต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เราก็อยากให้เขามีอาชีพ มีรายได้ ถ้าหากว่าเราไม่คอยฝึกน้องๆ สกิล พัฒนาการของพวกเขาจะถดถอยลง เราจึงค่อยปูเรื่องราวจนตอนนี้มีคนจากหลายองค์กรอยากสนับสนุน มันทำให้มีความหวังมากขึ้นที่คิดว่ามีคนสนใจมากขึ้น”
ณิชากล่าวถึงความคาดหวังตอนเริ่มโครงการนี้ว่า “เราไม่ได้คาดหวัง ว่าโครงการนี้จะให้คนมองว่าเราเป็นอย่างไร เราแค่ต้องการจะทำความรู้จักกับน้องๆ แต่หลังจากที่เรานำของไปให้คู่ค้าทั้งไทยและต่างประเทศ กลับได้รับผลตอบรับที่เกินคาด ทุกคนใช้งานจริงและทุกคนชอบมาก ทั้งยังสอบถามว่าหากเค้าต้องการทำอย่างนี้จะต้องติดต่อที่ไหน”
วรัทกล่าวว่า “ส่วนตัวผมโฟกัสที่เราทำให้ดีที่สุด ไม่ได้คาดหวังอะไร การที่น้องน้องได้ทำแบบนี้แล้วมันมีคุณค่า คนรับไปก็รู้สึกได้ถึงความตั้งใจของน้องๆ จริงๆ เท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”
แนวคิด Zero Waste ของ TRR Group
ณิชากล่าวต่อว่า “เราเองก็ออกมาหลายแคมเปญ แต่เรามองถึงเรื่องของการพัฒนาคนโรงงาน เราไม่ได้ดูแลแค่พนักงานเท่านั้นแต่รวมไปถึงลูกหลานของเขา และไม่ได้พัฒนาแค่สกิล แต่เราพัฒนาด้านการศึกษา เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทำทวิภาคี ไม่ใช่แค่รับเด็กฝึกงานแต่เรายังผลักดันส่งเสริมเด็กเหล่านั้นให้สามารถทำงานได้จริงๆ รวมทั้งเรายังมีทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี เราไม่ได้ส่งเสริมแค่พนักงานแต่เรายังให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานของเขาไม่ว่าจบมาแล้วจะมาทำการงานกับเราหรือเปล่า รวมไปถึงมีศูนย์การเรียนรู้”
อีกหนึ่งสิ่งที่ TRR Group ให้ความสำคัญคือ แนวทาง Zero Waste ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โรงงานน้ำตาลของกลุ่มไทยรุ่งเรืองดำเนินธุรกิจมากว่า 80 ปี และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่ธุรกิจพลังงาน เอทานอล และเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ
“จากอ้อย 1 ต้น เราสามารถนำไปใช้ได้ถึง 5 อย่าง ได้แก่ น้ำตาลจากน้ำอ้อย เอทานอลจากกากน้ำตาล ชานอ้อยที่นำไปปั่นไฟ โคนต้นที่มีดินติดซึ่งนำไปทำปุ๋ย และสุดท้ายคือน้ำสะอาดที่ถูกนำมาใช้หมุนเวียนใหม่”
นอกจากนี้ TRR Group ยังมีโครงการเกษตรอินทรีย์สำหรับพนักงานที่ใกล้เกษียณ โดยให้พนักงานที่ทำงานมากว่า 30 ปี ได้มีโอกาสทำเกษตรอินทรีย์บนที่ดินของบริษัท เพื่อสร้างอาชีพและลดรายจ่าย “เราเริ่มจากพื้นที่ 3 ไร่ ให้พนักงานที่สนใจทำการเกษตร ปัจจุบันขยายเป็น 23 ไร่ มีพนักงานเข้าร่วมกว่า 60 คน เราไม่ได้ทำเพื่อแค่ให้พนักงานมีรายได้เสริม แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงหลังเกษียณให้กับพวกเขา”
“โครงการที่เราทำร่วม Artstory กันในครั้งนี้ไม่ได้แค่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับกลุ่มไทยรุ่งเรือง แต่เราอยากให้ทุกคนได้รู้จักน้องๆ และหากจะมีบริษัท หรือธุรกิจใดที่ต้องการสนับสนุนเราก็อยากให้มาแชร์ร่วมกัน ร่วมกันทำในด้านที่ดี สังคมมันก็ดีขึ้น” ณิชากล่าว
เป้าหมายระยะยาวของ Artstory By Autistic Thai
วรัทได้เล่าเป้าหมายต่อไปของ Artstory ว่า “เดิมทีเรามีทั้งหมด 7 คน จนตอนนี้เข้าปีที่ 6 เรามีน้องๆ ทั้งหมด 40 คน และสิ้นปีนี้เราจะเปิดรับเพิ่ม เราจะจัดนิทรรศการให้น้องๆ ได้นำผลงานออกมาแสดง และได้ร่วมงานกับองค์กรอื่นทั้งเก่าและใหม่ที่จะมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้พัฒนาแค่น้องๆ แต่เรายังเทรนนิ่งแม่ๆ ด้วยเพราะแม่บางคนเป็นแม่บ้านเราจึงให้เขามาอยู่กับเรา ทำงานกับเรา เพื่อที่จะได้ดูแลเด็กคนอื่นอีกด้วย ไม่ใช่มีแค่งานศิลปการวาดภาพเท่านั้น แต่ยังมีถึงงานปั้น งานถัก รวมไปถึงกิจกรรมหมุนเวียนอื่นๆ มีการฝึกทำขนม ฝึกบาริสต้า และการเล่นดนตรี”
“นอกจากนี้เรายังมีอีเวนท์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5- 6 เมษายน 2568 นี้ เพราะวันที่ 2 เมษายนของทุกปีองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก” (World Autism Awareness Day) เราจะมีการจัดกิจกรรมกันที่ มิวเซียมสยาม มีเวิร์คช็อปต่างๆ ผมมองว่า อยากให้เราเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ หลายคนที่ท้อแท้กับชีวิต อยากให้ทุกคนได้เห็นว่าน้องน้องๆ ยังสามารถที่จะใช้ชีวิตได้ สามารถที่จะจัดการตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และไม่ท้อแท้อยากให้มองน้องเป็นแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาครับ” วรัทกล่าว
โครงการความร่วมมือระหว่าง TRR Group และ Artstory By Autistic Thai ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร แต่เป็นการสร้าง “โอกาส” ให้กับผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง และเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจที่คำนึงถึง คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน