ออร์กานอน จับมือภาคี ดันนวัตกรรมสุขภาพสตรี ขับเคลื่อนอาเซียน

ออร์กานอน จับมือภาคี ดันนวัตกรรมสุขภาพสตรี ขับเคลื่อนอาเซียน
ออร์กานอน ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ผลักดันนวัตกรรมสุขภาพสตรี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอาเซียน

บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จัดการประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพสตรี” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 ณ ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ กรุงเทพฯ เพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของสุขภาพสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day - IWD) โดยเน้นย้ำความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 3 ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ เป้าหมายที่ 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการส่งเสริมโครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปค (APEC Smart Families)

สุขภาพสตรี ปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม การอภิปรายมุ่งเน้นถึงความท้าทายเร่งด่วนด้านสุขภาพสตรีในประเทศไทยและอาเซียน เช่น

  • อัตราการผ่าคลอดในไทยที่สูงถึง 34.8%
  • อัตราการเสียชีวิตของมารดาในกัมพูชาที่สูงถึง 218 รายต่อการเกิดมีชีพ 100,000 ราย
  • อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของลาวที่ 82 รายต่อเด็กหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน

ข้อมูลจาก World Economic Forum, McKinsey Health Institute และ World Bank ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในสุขภาพสตรีสามารถเพิ่ม GDP โลกได้หลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และช่วยเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงถึง 20% ตัวอย่างเช่น บริษัท Insular Life ในฟิลิปปินส์ ที่ให้สวัสดิการสุขภาพครอบคลุมการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ส่งผลให้พนักงานหญิงสูงถึง 64% และอัตราการลาออกลดลง

การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสุขภาพสตรี

นายคุง คาเรล เคราท์บ๊อช กรรมการผู้จัดการ ออร์กานอน ประเทศไทย เปิดการเสวนาโดยเน้นย้ำว่าปัญหาด้านสุขภาพสตรี เช่น อัตราการเกิดที่ลดลง อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูง และอัตราการผ่าคลอดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตลาดแรงงาน ระบบสาธารณสุข และการพัฒนาประเทศในระยะยาว

“ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคล แต่กระทบถึงครอบครัว ชุมชน และอนาคตของประเทศ เราต้องนำนวัตกรรมด้านการแพทย์ เทคโนโลยี นโยบาย และการศึกษา มาปรับใช้ เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการที่จำเป็น”

ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า “สุขภาพสตรีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเสมอภาค การเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และส่งเสริมตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น”

ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงมาตรการที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ได้ดำเนินการ เช่น ขยายเวลาให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ จนถึง 20.00 น. เพิ่มบริการในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้สะดวกขึ้น มาตรการเหล่านี้ถือเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติในการลดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และขยายการเข้าถึงการวางแผนครอบครัว

การส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและสุขภาพทางเพศ – ต้องขยายการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา และเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล – เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อขยายการเข้าถึงบริการ นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว – เช่น สิทธิการลาคลอดของมารดาและบิดา และสวัสดิการดูแลบุตรในสถานที่ทำงาน ความร่วมมือระหว่างภาคส่วน – ลดความกระจัดกระจายของโครงการ และผลักดันแนวทางปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ

ก้าวต่อไปเพื่อสุขภาพสตรีที่ยั่งยืน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการบริหารมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กล่าวปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง “วันนี้เราได้แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ และพบพันธมิตรที่พร้อมเดินไปด้วยกัน นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่สำคัญ”

ข้อมูลจากการประชุมจะถูกนำไปใช้พัฒนา ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภายใต้โครงการ “Her Promise Grant” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก ออร์กานอน และดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย เพื่อขยายความร่วมมือและการลงทุนในนวัตกรรมสุขภาพสตรีที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

TAGS: #ออร์กานอน #วันสตรีสากล