สุขภาพจิตดีคือชีวิตที่มีคุณภาพ กับ 6 เคล็ดลับที่ไม่ควรมองข้าม

สุขภาพจิตดีคือชีวิตที่มีคุณภาพ กับ 6 เคล็ดลับที่ไม่ควรมองข้าม
การดูแลสุขภาพจิตไม่ใช่แค่การรับมือกับความเครียด แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการเสริมสร้างความสุขในชีวิต เรียนรู้กลยุทธ์ง่ายๆ ที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงและชีวิตที่มีคุณภาพ

สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจเป็นองค์ประกอบสำคัญของสุขภาพโดยรวม สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะทางอารมณ์ จิตใจ และสังคมของเรา ส่วน ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ (Mental Wellness) คือ การดูแลเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างและรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าสุขภาพจิตคือ สภาวะที่บุคคลสามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวัน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้ ส่วนสถาบัน Global Wellness Institute อธิบายว่า ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจเป็นทรัพยากรภายในที่ช่วยให้เราคิด รู้สึก เชื่อมโยงกับผู้อื่น และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

การดูแลสุขภาพจิตไม่ใช่แค่การรับมือกับความเครียด แต่ยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถในการควบคุมอารมณ์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเพิ่มพูนความสุขในชีวิต นี่คือกลยุทธ์ที่สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยเลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือโยคะ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือหากไม่มีเวลา ลองเดินขึ้นบันไดแทนลิฟต์ หรือทำงานบ้านที่ต้องเคลื่อนไหว จะช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดความวิตกกังวล และเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย

2. ฝึกสมาธิและสติ (Mindfulness & Meditation) การฝึกสติช่วยให้เรามีความรู้สึกตัวมากขึ้น ลดความคิดฟุ้งซ่าน และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ฝึกหายใจลึก ๆ และอยู่กับปัจจุบัน (Deep Breathing & Present Moment Awareness) หรือลองนั่งสมาธิวันละ 5-10 นาที นอกจากนี้ลองฝึกทำกิจกรรมแบบมีสติ เช่น กินข้าวช้า ๆ สังเกตเสียงรอบตัว จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความสงบภายใน และช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Social Connection) ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้เรามีแรงสนับสนุนทางอารมณ์ และลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อน พูดคุยหรือแสดงความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจ มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม เช่น งานอาสาสมัคร ทำให้รู้สึกเป็นที่รัก ลดความเครียด และสร้างความมั่นคงทางจิตใจ

4. ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ (Sleep Hygiene) การนอนหลับที่ดีช่วยให้สมองฟื้นฟูตัวเอง ลดอารมณ์แปรปรวน และเสริมสร้างความสามารถในการจดจำ นอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน หลีกเลี่ยงหน้าจอก่อนนอน และจัดห้องนอนให้สงบ และมีตารางเวลานอนที่สม่ำเสมอ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความเครียด และทำให้รู้สึกสดชื่น

5. จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดที่สะสมอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยการใช้วิธีการผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึก ๆ หรือฟังเพลง เขียนไดอารี่เพื่อระบายความรู้สึก และฝึกมองปัญหาในมุมบวก และเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง จะช่วยลดภาวะวิตกกังวล ทำให้ใจสงบ และมีวิธีรับมือกับปัญหาอย่างมีสติ

6. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น ในบางครั้งปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์นั้นสามารถทำได้เมื่อรู้สึกว่าจัดการอารมณ์ไม่ได้ ลองใช้บริการสายด่วนให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต และไม่ต้องรู้สึกผิดหรืออายที่ต้องขอความช่วยเหลือ เพื่อได้รับแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมและมีเครื่องมือรับมือกับปัญหาที่ดีขึ้น

แนวโน้มและการตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตในปัจจุบันนั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้นสังเกตจาก บุคคลสาธารณะเริ่มเปิดเผยประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้และลดทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น David Koczkar ซีอีโอของ Medibank ได้แบ่งปันว่าการฝึกสมาธิและสติช่วยให้เขาจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น 

การดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี เราสามารถเสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ เชื่อมต่อกับผู้อื่น และขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง 1 2 3

TAGS: #MentalWellness #สุขภาพจิต