เมื่อแผ่นดินสั่นไหว หัวใจคนก็สั่นคลอน ผลกระทบทางจิตใจหลังภัยพิบัติที่มองไม่เห็น

เมื่อแผ่นดินสั่นไหว หัวใจคนก็สั่นคลอน ผลกระทบทางจิตใจหลังภัยพิบัติที่มองไม่เห็น
ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไร และไม่มีใครเตรียมใจรับมืออาจเคยได้ยินคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีเอาตัวรอด แต่สิ่งที่ไม่มีคู่มือฉบับคือ “เราจะรับมือกับผลกระทบทางจิตใจได้อย่างไร“

 

ภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหวไม่เพียงแต่ทำลายอาคารบ้านเรือน แต่ยังทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้คนในแบบที่มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้อย่างลึกซึ้ง แรงสั่นสะเทือนอาจกินเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่มันสามารถสร้างบาดแผลในใจที่ติดตัวไปเป็นเดือนหรือเป็นปี เมื่อแรงสั่นสะเทือนหยุดลง ซากปรักหักพังอาจถูกเคลียร์ออกได้ในเวลาไม่นาน แต่ความเสียหายทางอารมณ์และจิตใจกลับไม่สามารถจัดการได้ง่ายเช่นนั้น

หลายคนอาจคิดว่าเมื่อร่างกายปลอดภัยแล้ว จิตใจย่อมกลับมาเป็นปกติ แต่ความเป็นจริงคือ ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่กับความหวาดกลัวแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว พวกเขาอาจสะดุ้งทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดัง คลื่นไหวในใจทุกครั้งที่มีแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ หรือแม้แต่ฝันร้ายซ้ำๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา บางคนอาจรู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว หรือแม้แต่รู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิต ในขณะที่คนอื่นต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

หลังเกิดแผ่นดินไหว ผู้ประสบภัยมักเผชิญกับผลกระทบทางจิตใจที่หลากหลาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน โดยทั่วไป ปฏิกิริยาทางจิตใจที่พบบ่อย ได้แก่

ความตกใจและหวาดกลัว – ช่วงแรกหลังเหตุการณ์ ผู้ประสบภัยอาจรู้สึกช็อก หวาดกลัว และไม่สามารถประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้นได้ บางคนอาจรู้สึกเหมือนอยู่ในฝันหรือไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

ความวิตกกังวลและความเครียด – ความรู้สึกไม่ปลอดภัยอาจตามมา ทั้งกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ ความไม่แน่นอนในอนาคต หรือความเครียดจากการสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สิน

อาการทางกายจากความเครียด – นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดหัว ปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุทางร่างกายที่ชัดเจน

ความเศร้าโศกและภาวะซึมเศร้า – หากมีการสูญเสียคนรัก สัตว์เลี้ยง หรือบ้านเรือน ผู้ประสบภัยอาจรู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว หรือหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต

อาการของ PTSD (ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ) – ในบางคน อาจเกิดอาการหวาดระแวง กลัวเสียงดัง ฝันร้าย หรือมีภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหววนซ้ำในหัว ทำให้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต – บางคนที่รอดชีวิตอาจรู้สึกผิดที่ตัวเองปลอดภัย ในขณะที่คนอื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

แนวทางการรับมือ

  • พูดคุยและแบ่งปันความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจ
  • พยายามกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติให้เร็วที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการเสพข่าวหรือข้อมูลที่กระตุ้นความเครียดมากเกินไป
  • หมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย นอนหลับให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์
  • หากมีอาการทางจิตใจรุนแรง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

ทุกคนมีวิธีฟื้นตัวจากเหตุการณ์รุนแรงที่แตกต่างกัน แต่การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดทางจิตใจได้เร็วขึ้น

TAGS: #แผ่นดินไหว #สุขภาพจิต