จากมันฝรั่งในไร่สู่เลย์ในมือคุณ 30 ปีของความยั่งยืนและการสนับสนุนเกษตรกร
รู้หรือไม่? เลย์ กำลังจะครบรอบ 30 ปีในปี 2568 นี้ และรู้หรือไม่ว่า เลย์ นั้นเกิดจากความประชดของเชฟที่ลูกค้าไม่ชอบเฟรนช์ฟรายที่ทอด เลยได้ทำการหั่นให้เป็นแผ่นบางแทนการหั่นเป็นแท่ง แล้วดันอร่อยถูกใจลูกค้า! และยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวตั้งแต่การเพาะปลูกมันฝรั่งที่เหมาะกับพื้นที่เมืองหนาวในไทยสำเร็จ ซึ่งคือที่เชียงราย และเนื่องจากปีนี้เป็นการครบรอบ 30 ปีที่เลย์มาเยือนประเทศไทย เราจึงพาทุกคนลงไปสำรวจจากคนที่ต้นน้ำที่ตัวเล็กที่สุด ไปจนถึง โรงงานผลิตตัวใหญ่ ที่กว่าจะได้เลย์ 1 แผ่นบางๆ นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง
นับตั้งแต่ที่ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัดอยู่มาถึง 30 ปี และยังเสิร์ฟในทุกๆ เทศกาล เสิร์ฟรสชาติที่เข้าได้กับทุกๆ คน ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเลย์ (Lay’s) มีต้นกำเนิดจากเชฟชื่อ เฟร็ด เบอร์แมน (Fred Baur) ในเมืองโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โดยเขาเริ่มทำมันฝรั่งทอดเป็นอาหารขบเคี้ยวในปี 1932 เพื่อขายให้กับร้านอาหารในท้องถิ่น ต่อมาเขาก็พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายในรูปแบบของแบรนด์ “Lay’s” ซึ่งเริ่มต้นจากการทำเฟรนช์ฟราย (French fries) หรือมันฝรั่งทอดในสไตล์ต่างๆ จนกลายเป็นมันฝรั่งทอดกรอบที่เราเห็นในปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และในปี 1961 บริษัท Frito-Lay ได้ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวระหว่าง Frito Company และ Lay’s และในปี 1965 PepsiCo ได้ซื้อกิจการ Frito-Lay ทำให้แบรนด์ Lay’s อยู่ภายใต้การบริหารของ PepsiCo จนถึงทุกวันนี้
จากจุดเริ่มต้นนั้น จนถึงการเดินทางมาที่ไทย
ไม่เพียงแต่รสชาติ และคุณภาพที่เป๊ปซี่โคให้ความสำคัญ เพราะนอกจากนั้นเป๊ปซี่โคยังทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากตั้งแต่การปลูกมันฝรั่ง ส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร เพิ่มผลผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพส่งเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นมันฝรั่งทอดกรอบ เพราะยิ่งผลผลิตดีเท่าไหร่ ค่าตอบแทนก็ดีเท่านั้น การเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันครั้งนี้ทำให้เกษตรกรภาคเหนือหลายคนมีความกินอยู่ที่ดีขึ้น
เพื่อลดการพึ่งพามันฝรั่งที่นำเข้าต่างประเทศ ปัจจุบัน “เลย์” ที่ผลิตในไทยใช้มันฝรั่งที่ปลูกได้เองในประเทศไทยเฉลี่ยปีละเกือบ 100,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 จากผลผลิตทั้งหมดที่นำมาผลิตมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ที่จำหน่ายในประเทศ ที่เหลืออีกร้อยละ 30 นำเข้าจากต่างประเทศ และปีนี้เป็นอีกปีที่คาดว่าจะได้ผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถึง 100,000 ตัน
30 ปี จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์”
นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า เป๊ปซี่โคมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นต้นทางการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบอาหารของไทย
เส้นทางการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยไม่ได้ราบรื่น โดยในช่วง 10 ปีแรก เป๊ปซี่โคและเกษตรกรต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและวิธีการเพาะปลูกที่ต้องทดลองหลายครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ในช่วงแรกค่อนข้างล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่ในช่วง 10 ปีหลัง การพัฒนาเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจน ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1-2 ตันเป็น 3-4 ตันต่อไร่ และบางพื้นที่สามารถผลิตได้ถึง 5 ตัน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ปัจจุบัน เป๊ปซี่โคส่งเสริมให้เกษตรกรใน 9 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกมันฝรั่งรวมกว่า 38,000 ไร่ และมีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 5,800 คน นอกจากสภาพอากาศที่เหมาะสมแล้ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้โดรนร่วมกับ AI เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของพืช ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยงจากโรคและแมลงศัตรูพืช
นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มผลผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การปลูกมันฝรั่งในไทยเป็นต้นแบบที่ประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเรียนรู้ เพื่อต่อยอดโอกาสทางการเกษตร นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพดและข้าวร่วมกับมันฝรั่ง ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยฟื้นฟูดินและลดความเสี่ยงจากโรคพืช
นางภัทราพร ทะกา เกษตรกรจากเชียงราย กล่าวถึงการเริ่มต้นปลูกมันฝรั่งว่า แม้จะยากในตอนแรก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเป๊ปซี่โค ในการให้ความรู้และสนับสนุนในการเพาะปลูก ทุกวันนี้เธอสามารถขยายพื้นที่ปลูกถึง 10 ไร่ และมีรายได้ที่มั่นคงจากการตกลงราคารับซื้อตามสัญญากับบริษัท
การปลูกมันฝรั่งในไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นางสุริวัสสากล่าวว่า เป๊ปซี่โคมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมเกษตรกรไทยให้สามารถผลิตวัตถุดิบคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้เริ่มส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย นอกเหนือจากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ยังมีการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทย เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งเป็น 1ใน 3 พันธกิจหลักภายใต้กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก "PepsiCo Positive" (pep++)
ซึ่งปัจจุบัน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง ผลิตมันฝรั่งมากถึงปีละ 1 แสน ต้น โดยคัดเลือกสายพันธุ์มันฝรั่งมาอย่างต่อเนื่องจนได้พันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย โดยเมื่อปี 2024 ผลผลิตมันฝรั่งในประเทศ 94,000 ตัน และมีเกษตรกรที่เข้าร่วมเกษตรพันธสัญญากว่า 5,800 คน
นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งนี้ ประกอบด้วยหลายปัจจัย โดยปีนี้สภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งสภาพอากาศและอุณหภูมิในการปลูกมันฝรั่งให้มีผลผลิตดีนั้นในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนจะต้องมีอุณหภูมิที่ต่างกันประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24 - 26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนน้อยกว่า 18 องศาเซลเซียส
ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้การปลูกมันฝรั่งในไทยประสบความสำเร็จ คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ทั้งการปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบน้ำหยด การนำเทคโนโลยี โดรนร่วมกับ AI มาใช้ในการประเมินความสมบูรณ์ของพืช และระบุโรค-แมลงศัตรูพืช ซึ่งมีความแม่นยำ และ ประสิทธิภาพสูง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางการส่งเสริมวิถีเกษตรยั่งยืน
และอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ คือ “การปลูกพืชหมุนเวียน” ที่ส่งเสริมเกื้อกูลกัน โดยนายอานนท์ กล่าวว่าเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งสลับกับ ข้าวโพด และ ข้าว ในแนวทางที่บูรณาการกันในพื้นที่ปลูกของตน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคพืช จากการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดิน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของครัวเรือน โดยรายได้หลักจะมาจากมันฝรั่ง ข้าวโพด และ ข้าว ตามลำดับ ทำให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
@thebetter.th รู้หรือไม่? เลย์กำลังจะครบรอบ 30 ปีและมีรสชาติมาแล้วมากกว่า 200 รสชาติทั่วโลก มีรสชาติไหนไหมที่เราอยากให้กลับมาอีกครั้ง #เลย์ #รสชาติที่คิดถึง ♬ Not Lie - Aoey Jiratch