“เป็นเกย์ = บาป?” คำถามที่คริสตจักรเริ่มเปิดใจตอบใหม่ ในยุคของ 'โป๊ปฟรานซิส'

“เป็นเกย์ = บาป?” คำถามที่คริสตจักรเริ่มเปิดใจตอบใหม่ ในยุคของ 'โป๊ปฟรานซิส'
โป๊ปฟรานซิสผู้เปลี่ยนท่าทีของคริสตจักรโรมันคาทอลิกต่อ LGBTQ+ ด้วยเมตตาและการยอมรับมากขึ้น แม้ไม่เปลี่ยนคำสอนแต่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีที่ยืนในศาสนา

“ถ้าคนคนหนึ่งเป็นเกย์และแสวงหาพระเจ้า และมีเจตนาดี... เราเป็นใครถึงจะไปตัดสินเขา?”

คำกล่าวนี้เพียงประโยคเดียวของโป๊ปฟรานซิส เมื่อปี 2013 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของท่าทีคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่มีต่อชุมชน LGBTQ+  และได้จุดประกายบทสนทนาใหม่ในศาสนจักรที่มีประวัติกว่า 2,000 ปี 

เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะขึ้นชื่อเรื่องความมั่นคงในหลักคำสอน แต่โป๊ปฟรานซิสกลับเลือกเดินเส้นทางที่กล้าหาญ  ด้วยการเปลี่ยนท่าที ที่ไม่ใช่ด้วยการล้มล้างคำสอน แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ "ความรักและเมตตา" ให้มีน้ำเสียงที่ดังกว่า “การพิพากษา”  ซึ่งเป็นการตัดสินผู้คนที่คิดต่างในวิถีแบบเดิมๆ

นับตั้งแต่ที่พระองค์ได้รับการสถานปนาให้เป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก โป๊ปฟรานซิสได้ส่งสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของกลุ่ม LGBTQ+ มาโดยตลอด อย่างเช่น ในปี 2018 ทรงกล่าวกับชายรักเพศเดียวกันว่า “พระเจ้าสร้างคุณให้เป็นแบบนี้ และพระองค์ทรงรักคุณ” ต่อมาในปี 2020 ทรงสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกัน พร้อมวิจารณ์กฎหมายที่ลงโทษการรักร่วมเพศ ถัดมาในปี 2023  ทรงตรัสว่า “การเป็นเกย์ไม่ใช่อาชญากรรม” พร้อมย้ำว่า แม้คำสอนทางศาสนายังคงมองว่าเป็น "บาป" แต่ไม่ควรสับสนว่าเป็น "อาชญากรรม"  และในเดือนตุลาคม ปี 2023 ทรงอนุญาตให้คนข้ามเพศรับศีลล้างบาปและเป็นพ่อแม่ทูนหัวได้  รวมถึงเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 ทางวาติกันได้เผยแพร่เอกสาร Fidus Supplicans อนุญาตให้สามารถ “อวยพร” คู่รักเพศเดียวกัน โดยไม่ถือเป็นพิธีแต่งงาน โดยเอกสารฉบับนี้ย้ำว่า “ผู้ที่แสวงหาพรจากพระเจ้า ไม่ควรถูกคาดหวังว่าจะต้องมีคุณธรรมสมบูรณ์ก่อน”  นับเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่และลึกซึ้งสำหรับผู้ที่เคยถูกผลักไสออกจากศาสนา

ทั้งนี้เว็บไซต์ Time ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Human Rights Campaign ชื่นชมว่านี่คือ “การเปลี่ยนโทนอย่างมีนัยสำคัญ” ขณะที่กลุ่มในท้องถิ่น เช่น One Iowa หรือ Wall Las Memorias Project ต่างกล่าวว่านี่คือ “การยอมรับที่ส่งผลต่อศักดิ์ศรีและจิตใจของผู้คนจริงๆ”

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมบางส่วนยังคงตั้งข้อสงสัยและต่อต้าน บิชอปหลายท่านที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางใหม่ของวาติกัน และยังคงถือมั่นในหลักคำสอนดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของโป๊ปฟรานซิสเอง แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างลึกในคริสตจักรได้ทันที แต่พระองค์เลือกที่จะเปลี่ยน "ทัศนคติ" และ "หัวใจ" ของผู้ศรัทธาทีละน้อย ด้วยความเมตตาและการรับฟัง

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคของโป๊ปฟรานซิส อาจไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนหลักคำสอนทางศาสนาโดยตรง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังตัวบททางศาสนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เราทุกคนคือลูกของพระเจ้า และพระเจ้าทรงรักเราในแบบที่เราเป็น” สุนทรพจน์นี้โป๊ปฟรานซิสทรงได้เคยตรัสไว้ เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น อาจคือหนทางเดียวที่จะทำให้ศรัทธาและมนุษยธรรมเดินเคียงข้างกันได้อย่างแท้จริง

 

ที่มา : https://time.com/7267052/pope-francis-impact-on-the-lgbtq-community/

TAGS: #RoleModel #Popefrancis #พระสันตะปาปาฟรานซิส #นครวาติกัน #LGBT