คนไทยตายด้วยหอบหืด 10 คนต่อวัน แพทย์ย้ำ "อย่าลืมพ่นยาคุมอาการทุกวัน"

คนไทยตายด้วยหอบหืด 10 คนต่อวัน แพทย์ย้ำ
แพทย์ชี้ 'หืดกำเริบรุนแรง' อาจเกิดจากการใช้ยาผิดวิธี แนะลดปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นอาการหอบในคนไข้โรคหืด ปี 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 ราย

จากกรณีการเสียชีวิตของคุณธนัท ตันอนุชิตติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย 
หรือ พี่นัท การ์ตูนคลับ ทายาทผู้นำเข้าลิขสิทธิ์การ์ตูนและเจ้าของช่อง Cartoon Club วัย 38 ปีจากอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน (Acute Asthmatic Attack) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้โพสต์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิด พร้อมระบุถึงการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคหืด เพื่อเลี่ยงอาการรุนแรง ผ่านทาง Facebook "Asthma Talks by Dr.Ann" ระบุใจความว่า 

 

“ในฐานะที่เป็นหมอดูแลคนไข้โรคหืดรู้สึกเสียใจมากในทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนไข้โรคหืด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดหืดกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตจากโรคนี้ เกิดจากการใช้ยาขยายหลอดลมที่เป็นยาฉุกเฉินบ่อยอย่างน้อย 3 หลอด/ปี หรือเกือบทุกวัน

การใช้ยาฉุกเฉินขยายหลอดลมบ่อยๆ ทำให้ดื้อยาและหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น ดังนั้นการใช้ยาควบคุมที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูดทุกวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันหืดกำเริบเฉียบพลัน

ส่วนปัจจัยอื่นๆที่เพิ่มความเสี่ยงในการหอบกำเริบ ได้แก่ การที่มีอาการหอบกำเริบรุนแรง (หอบจนต้องมาโรงพยาบาลหรือใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน) หอบกำเริบบ่อยทุกเดือน (กรณีไม่รุนแรง) หรือมีโรคอื่นๆพบร่วมอื่นๆ ใครเป็นโรคหืดอย่าลืมใช้พ่นยาควบคุมอาการทุกวัน เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ”

ก่อนหน้านี้วงการบันเทิงเคยสูญเสียนักแสดงชายฝีมือดีอย่าง “อ๊อฟ อภิชาติ” ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคหอบหืดและหลอดเลือดหัวใจตีบกำเริบ เมื่อวันที่  16 พฤศจิกายน 2549 

โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลโรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ

ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

อาการของโรคหอบหืดหรือโรคหืด
ไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงหวีด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • เหนื่อยหอบ
  • แน่นหน้าอก
  • หายใจไม่สะดวก
  • หากอาการหนักอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้  
  • เกิดระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิต ในที่สุด

สภาพอากาศเย็นกระตุ้นให้เกิดหอดหืดอย่างไร
ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ปราศจากความชื้น จะกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการหอบหืดกำเริบได้

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
อาการสำคัญที่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืดมีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจมีเสียงวี้ด
  • เหนื่อยหอบ

หากพบว่ามีครบทั้ง 3 อาการ ทำให้เพิ่มความน่าจะเป็นของการเป็นโรคหืด อย่างไรก็ตามควรทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคหืดในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง

การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหอบหืดด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอด เพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดลมตีบจากหืด และวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป การเอกซเรย์ปอดในโรคหอบหืดผลเอกซเรย์ปอดมักจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่ชัดเจน ทำให้วิธีทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำมากกว่า

การดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืด
ดังเช่นโรคเรื้อรังอื่นๆ ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคหืดจะมียาประจำในการรักษา ได้แก่ ยากิน ยาฉีดและยาสูดพ่น ยากินจะอออกฤทธิ์รักษาอาการหอบหืดได้ช้ากว่ายาสูดพ่น เพราะยากินต้องผ่านกระบวนการดูดซึมในร่างกาย แตกต่างจากยาพ่นซึ่งสามารถเข้าถึงหลอดลมได้ทันทีที่พ่นเข้าไป และมีผลข้างเคียงต่ำกว่า หากแต่ต้องอาศัยเทคนิกการใช้ยาที่ถูกต้อง

สำหรับยาพ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาควบคุมโรคและยาบรรเทาอาการ
ยาควบคุมโรค เป็นยาสูดพ่นที่มีองค์ประกอบเป็นสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการ

ยาบรรเทาอาการ เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน หรือเมื่อมีอาการหายใจลำบากเกิดขึ้น

ที่สำคัญผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และใส่ใจในเรื่องการพักผ่อนที่เพียงพอ ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน หลีกเลี่ยงความเครียดทางจิตใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และมลพิษในอากาศรวมทั้งงดสูบบุหรี่ ที่กระตุ้นให้หอบหืดกำเริบ

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยา
การปรับขนาดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าปรับยาหรือหยุดด้วยตนเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
ผู้ป่วยต้องพกยาฉุกเฉินติดตัวไว้ เพื่อบรรเทาอาการเมื่อหอบหืดกำเริบ และคนรอบข้างควรรู้ตำแหน่งที่คนไข้เก็บยาเอาไว้ หากฉุกฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน

ทั้งนี้จากข้อมูลจากสมาคมสภาองค์กรโรคหดแห่งประเทศไทย โดยอ้างอิงข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุดในปี 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 ราย หรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน และโรคหืดนับเป็นโรคที่พบเคสที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย 

ซึ่งโรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ พบได้ในทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะอ้วน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหอบกำเริบในผู้ป่วยโรคหืดมีหลายปัจจัย  เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศชื้นหรือชื้น น้ำหอม น้ำยาหรือสารเคมี ไรฝุ่น ฝุ่นละออง PM 2.5 ฯลฯ

ขณะเดียวกันการไม่ได้พ่นยาควบคุมการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี ก็เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงของโรคได้

ดังนั้นผู้ป่วยโรคหืดควรได้รับการรักษาและคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง ทั้งการพ่นยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง และเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบกำเริบ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดโอกาสการเสียชีวิต  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหืดต่อไป

TAGS: #สุขภาพ #โรคหอบหืด