สำรวจสุขภาพจิต ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ยิ่งต้องใส่ใจ

สำรวจสุขภาพจิต ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ยิ่งต้องใส่ใจ
กรมสุขภาพจิต ชี้ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารการเลือกตั้งฯใกล้ชิด อันเป็นการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตย เป็นความเครียดที่สร้างสรรค์ แนะการสื่อสาร เปิดใจรับฟัง ยอมรับความแตกต่าง

ความตื่นตัวและมีส่วนร่วมการเลือกตั้งฯครั้งนี้จัดว่าเป็นพลังประชาชนขับเคลื่อนประเทศชาติ เป็นความเครียดที่สร้างสรรค์ บางรายอาจกระทบการพักผ่อน จนมีอาการทางกาย จิตใจและอารมณ์ ทำให้มีปัญหาสัมพันธภาพต่อผู้อื่นได้

แนะการสื่อสาร เปิดใจรับฟัง ยอมรับความแตกต่าง เอาใจเขาใส่ใจเราในมุมมองที่เคารพสิทธิ์ผู้อื่น สนทนาอย่างมีสติ ไม่กระตุ้นความเครียด ก้าวร้าว เกลียดชัง 

เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงจากความเห็นต่าง หากพบความเครียดในระดับที่น่าเป็นห่วงสามารถสำรวจสุขภาพใจตนเองผ่านไลน์แอพลิเคชั่น คิวอาร์โคด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิต และเรียนรู้คำแนะนำการดูแลตัวเอง การใช้เวลาเสพข่าวอย่างเหมาะสมและการสื่อสารเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ได้

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากสถานการณ์กระแสข่าวการเลือกตั้งสส.ตลอดทั้งวัน กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านทางไลน์แอพลิเคชั่น Mental Health Check In (MHCI) 

โดยแบ่งช่วงผลสำรวจเพื่อประเมินแนวโน้มรายเดือน ตั้งแต่ธ.ค. 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนมีแนวโน้มเครียดเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 20 มี.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 2.17 เป็นความเครียดที่ระดับ 3.07 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 จากฐานกลุ่มตัวอย่างจำนวน 127,009 คน โดยบรรยากาศการเลือกตั้งในปีนี้มีความคึกคักอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัว ชุมชนมีการตื่นรู้การเมือง เป็นโอกาสของสังคมไทยในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างสร้างสรรค์ 

ทำให้การสนทนาและสื่อสารบนโลกออน์ไลน์หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองได้ยาก ทั้งในประเด็นนโยบายของพรรคการเมืองและคุณสมบัติที่น่าสนใจของผู้ลงสมัคร โดยมีข้อสังเกตได้ว่าประเด็นเหล่านี้อาจเร้าความเห็นที่แตกต่างในแต่ละวงสนทนาได้มาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรรับฟังกันและกันอย่างมีสติ เคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ใคร่ครวญวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจากข่าวสารที่ได้รับ

เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดและมุมมองให้เกิดประโยชน์ พยายามลดการแสดงความเห็นลักษณะตำหนิขัดแย้งเพื่อเอาชนะคู่สนทนา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งพัฒนาการของการเมืองและสัมพันธภาพในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงด้วย

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ประชาชนใส่ใจกันและกัน พยายามใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ระวังการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่สนทนาด้วย รับฟังและระงับอารมณ์ให้สงบเมื่อได้ยินถ้อยคำที่รุนแรง

รวมทั้งสังเกตอากัปกิริยาของผู้ที่จะสนทนาว่ามีอารมณ์ฉุนเฉียวหรืออยู่ในอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมสติ เช่น กำลังดื่มสุรา เป็นต้น ที่อาจจะนำไปสู่การถกเถียง ทะเลาะวิวาทได้ 

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการชื่นชมคู่สนทนาในการแสดงออกที่เหมาะสม สุภาพ มีเหตุผล เคารพผู้อื่น พร้อมนี้ ขอแนะนำประชาชนให้แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี ไม่นำเรื่องของการเลือกตั้งมาใช้ในการพนันหรือเดิมพันเพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นและเกิดปัญหาอื่นตามมา 

สังเกตอาการเครียด ส่งผลแย่ต่อสุขภาพจิต หากพบว่ามีความเครียดจนเกิด

  • อาการปวดหัว
  • หัวใจเต้นเรง
  • เกรี้ยวกราด
  • เหงื่อแตก
  • มีการเกร็งกล้ามเนื้อ

ควรตั้งสติและยุติการสนทนา แยกตัวมาสงบใจจัดการอารมณ์ตนเองก่อนเพื่อไม่ให้อารมณ์ด้านลบส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้

อีกทั้งยังควรดูแลตนเองให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติและมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดตามสมควร

ทางด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เคยแนะวิธี "2ไม่ 1 เตือน" สร้าง "วุฒิภาวะทางการเมือง" เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมาว่า บรรยากาศการเลือกตั้งยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้น

มีเรื่องความขัดแย้งในความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ในแง่สุขภาพจิตมีสิ่งต้องระวัง คือ เรื่องของการใช้เฮทสปีช (Hate Speech) คือ วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ การเมือง เพศ ศาสนา ส่วนใหญ่เป็นบริบททางสังคม 

ซึ่งหากมีการใช้เฮทสปีชในที่สุดจะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในสังคม เนื่องจากมีการสร้างบรรยากาศการด่าทอ อุ่นเครื่องและก่อความเกลียดชังมาแล้วในสังคม

โดยขณะนี้แนวโน้มการใช้เฮทสปีชทางการเมืองมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยใช้มากที่สุดอย่างเฟซบุ๊ค ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่เพิ่งเริ่มต้น มีการใช้คำพูดหรือถ้อยคำที่ด่าทอ เหยียดหยาม ดูถูกโต้กันไปมาเรื่อยๆ

จึงจำเป็นต้องออกมากระตุกเตือนให้ทุกคนในสังคมต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ใช้เฮทสปีชที่จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม และกระทบสุขภาพจิตของสังคมและส่วนตัวของบุคคลอย่างมาก

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การหยุดเฮทสปีช ทำได้ด้วนการที่ทุกคนยึดหลัก 2 ไม่ 1 เตือน คือ

1.ไม่สื่อสารความรุนแรง หรือไม่เป็นผู้สร้างเฮทสปีช

2.ไม่ส่งต่อความรุนแรง เพราะยิ่งส่งต่อ เฮทสปีชออกไปมากยิ่งจะก่อความรุนแรงมาก

3.เตือน เมื่อพบเห็นการใช้เฮทสปีชควรจะเตือนด้วนถ้อยคำที่สุภาพและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง 

ซึ่งจากการศึกษาทางสังคมพบว่าการตอบกลับด้วยถ้อยคำสุภาพจะช่วยลดความรุนแรงลงได้ และการไม่แชร์ก็จะเป็นการหยุดการส่งต่อความรุนแรงได้มากเช่นกัน

เพราะเป้าหมายของคนที่ผลิตวาทกรรมหรือ ติดแฮชแท็กที่เป็นเฮทสปีชต่างๆ นั้นออกมาก็เพื่อต้องการให้คนสนใจ ยอมรับ หากสังคมช่วยกันที่จะปฏิเสธ ไม่สนใจ ไม่ยอมรับเฮชสปีชนั้นก็จะตกไปเอง 

ทั้งนี้ ในการสื่อสารทางลบหรือคนที่สร้างความรุนแรงจะมีการไต่ระดับการสื่อสารขึ้นเรื่อยๆเริ่มจากกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ประณาม ด่าว่า และดูถูก เหยียดหยาม

หากไม่หยุดยั้งก็นำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพในสังคม ซึ่งคนที่สร้างเฮทสปีชมักไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น ศรัทธา จึงมักขาดสติโดยเฉพาะการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เห็นหน้ากัน ไม่มีใครช่วยยับยั้งก่อนกระทำ

นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การเสพติดข่าสาร คือการติดตามข้อมูลข่าวสารที่มากจนเกินไปจนกลายเป็นการลุ้น เหมือนการติดตามดูละคร จนเริ่มส่งผลเสียทั้งตนเองและหน้าที่การทำงาน

ซึ่งการเสพข่าวสารการเมือง มักเป็นประเด็นที่มีสีสัน ทำให้มีการติดตามมากขึ้น ก็มีผลทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น โดยความเครียดที่เกิดจากการเมืองกับความเครียดที่เกิดจากสาเหตุอื่นมีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่วนที่เหมือนคือมีภาวะเครียด ลุ้น เสียการควบคุมการทำหน้าที่หลักของตัวเอง 

แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือบรรยากาศการเมืองจะยาวนาน และมีคู่ปรปักษ์ทำให้มีโอกาสขัดแย้งสูง เครียดสูง ดังนั้นหลักการคือใช้สมองส่วนคิดให้มากกว่าสมองส่วนอยาก

จำกัดเวลาการรับข่าวสารไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เลิกติดตามข่าวแบบลุ้นควรตามแบยสถานการณ์ปกติ และรับเป็นช่วงเวลา เช่น เช้า เย็น แต่ไม่ควรลากยาว ยิ่งตอนนี้สามารถดูย้อนหลังได้อีก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียด

กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนมีสติติดตามข่าวสารการเลือกตั้งฯอย่างสร้างสรรค์ แต่หากรู้สึกเครียดสามารถสำรวจสุขภาพใจด้วย MHCI และปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อการดูแลที่เหมาะสม

TAGS: #เลือกตั้ง #สุขภาพจิต