กรมวิทย์ฯ เผยสัดส่วนสายพันธุ์ลูกผสม XBB ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพแล้ว / อิตาลีมอบวัคซีนไฟเซอร์รุ่น 2 ให้ไทย 7 ล้านโดส เล็งมอบวัคซีนโปรตีนซับยูนิตในอนาคต
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สองสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด โดยเพิ่ม XBB.1.16* เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI)
สถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรม เชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74 % ในทุกเขตสุขภาพ
พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16* คิดเป็น 27.7 % รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5* คิดเป็น 22.0 %
ในขณะที่ BN.1* ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ตามที่ WHO ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก (Public Health Emergency of International Concern) ของโรคโควิด-19 ที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ
อย่างไรก็ตาม WHO ยังย้ำว่า แม้สถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลง แต่ก็จะยังคงเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งประเทศไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือโควิด-19 เช่นเดิม
สำหรับประชาชนแนะนำให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไป ร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายจะยังคง เฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว.
ทั้งนี้ ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลกปรับเพิ่ม XBB.1.9.2* เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM)
1) VOI 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* และ XBB.1.16*
2) VUM 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2* และ XBF
รัฐบาลอิตาลีบริจาควัคซีนโควิด19 “ไฟเซอร์” รุ่น 2 ชนิดไบวาเลนท์ ให้ไทยจำนวน 7 ล้านโดส พร้อมพัฒนาวัคซีนโปรตีนซับยูนิตมอบไทยในอนาคต ขณะเดียวกัน สธ.เชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มคู่ “ไข้หวัดใหญ่-โควิด19” กรมควบคุมโรคเผยไม่ถึง 10 วันฉีดได้กว่า 7 หมื่นโดส อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขเพิ่มเติม ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธีรับมอบวัคซีนโควิด 19 รุ่น 2 หรือไบวาเลนท์ (Bivalent) จากรัฐบาลอิตาลี
โดยมีนายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr.Paoplo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย นางฟรานเชสก้า บลาโซเน่ (Mrs. Francesca Blasone) ทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทยและคณะ เป็นผู้แทนส่งมอบ
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลสาธารณรัฐอิตาลีได้มอบวัคซีนไฟเซอร์ไบวาเลนท์ให้รัฐบาลไทยจำนวน 7 ล้านโดส ถือเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ไทยเจอโควิด อีกทั้ง การได้วัคซีนครั้งนี้ ยังเป็นระยะเวลาเหมาะสมที่ไทยกำลังเร่งรณรงค์ให้ประชาชนฉีดเข็มกระตุ้น
ซึ่งการได้รับวัคซีนจากรัฐบาลอิตาลีก็จะทำให้เกิดความมั่นคงทางวัคซีน และเพิ่มประสิทธิภาพเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ยังได้แจ้งด้วยวาจาว่า รัฐบาลอิตาลีมีเจตนารมย์บริจาควัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิต ให้กับรัฐบาลไทยเพิ่มเติมอีกด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ซึ่งเป็นการแสดงถึงน้ำใจที่ยิ่งใหญ่จากมิตรประเทศที่ดีของสาธารณรัฐอิตาลี นอกเหนือจากความสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมายที่ไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการฑูตมากกว่า 150 ปี
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า จำนวนวัคซีนโควิดจากที่จัดซื้อและรับบริจาคจนถึงขณะนี้มีอยู่กว่า 20 ล้านโดส เพียงพอต่อการฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนได้ครอบคลุมเพียงพอโดยไม่ต้องจัดซื้อเพิ่มในปีนี้ จึงเชิญชวนให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับวัคซีน
โดยสามารถรับควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และช่วงนี้ใกล้เปิดภาคเรียนก็ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป แม้ว่าเด็กจะแข็งแรงกว่าผู้ใหญ่ แต่โควิด-19 เรายังต้องอยู่สายพันธุ์นี้
แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินของโรคโควิด-19 แต่เชื้อโควิดก็จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ยังต้องพึงระวัง หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็อาจจะยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย
ด้านนายเปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการทูตมานานถึง 155 ปี เป็นมิตรภาพที่ยาวนานต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้ WHO ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินของโควิด-19 แต่เชื้อโควิดก็ถือว่ายังอันตราย และวัคซีนเป็นทางที่ดีในการป้องกันโรค การฉีดวัคซีนเข็มระตุ้นยังจำเป็น
ซึ่งประชากรอิตาลีก็ฉีดวัคซีนมากกว่า 3 เข็มไปแล้วครอบคลุมกว่า 80 % สำหรับวัคซีนโควิดชนิดโปรตีนซับยูนิตขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย อนาคตก็จะมีความร่วมมือกับไทยต่อไป
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากเริ่มรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มคู่ “ไข้หวัดใหญ่และโควิด19” ในกลุ่มเสี่ยงนั้น ผ่านไปไม่ถึง 10 วัน ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลตัวเลขอยู่ แต่ดูจากอัตราฉีดหลายหมื่นโดสแล้ว และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละสัปดาห์ฉีดวัคซีนโควิด19 ประมาณ 7-8 หมื่นโดส ซึ่งที่ผ่านมารวม 2 เข็มก็น่าจะประมาณกว่า 7 หมื่นโดสแล้ว เพราะจะเน้นกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ถูกนัดคิวมาก่อนแล้ว และเมื่อมาถึงก็ฉีดวัคซีนโควิดร่วมด้วย
ซึ่งผลการดำเนินการก็ถือว่าเป็นไปด้วยดี ยังไม่มีรายงานใดๆ สิ่งสำคัญขอให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุเข้ามาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ คู่กับวัคซีนโควิด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้