หน้าเบี้ยว แขนขาชาอ่อนแรง สัญญาณ"โรคหลอดเลือดสมอง"

หน้าเบี้ยว แขนขาชาอ่อนแรง สัญญาณ
สัญญาณเตือน STROKE (โรคหลอดเลือดสมอง) รู้เร็ว รอดได้ โดยสังเกตง่าย ๆ 4 อาการ หรือที่เรียกว่า "FAST" ย้ำ ห้ามบีบนวด รีบไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก 

โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke)
เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง

ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke)
พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย

ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

ศูนย์สมองและระบบประสาท  โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เผย โรคหลอดเลือดสมองทำให้สมองเสียหายมากกว่าที่คิด โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้น ๆ หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้

สมองซีกซ้าย

  • อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา
  • ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา แบะการกลืน
  • สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง
  • เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง

สมองซีกขวา

  • อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย
  • สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาด และประมาณระยะทาง
  • สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน
  • เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง

ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย

MAGIC NUMBER 4.5
มาตรฐานเวลาหรือ Magic Number คือ ตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมองจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน

สำหรับรายที่มาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง

แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่

สัญญาณเตือน STROKE รู้เร็ว...รอดได้ รพ.เกษมราษฎร์ ยังแนะวิธีสังเกตสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสอง โดยสังเกตง่าย ๆ 4 อาการ หรือที่เรียกว่า "FAST"

  • Face ใบหน้าเบี้ยว
  • Arm แขนขาชา อ่อนแรง
  • Speech พูดไม่ชัด
  • Time ระยะเวลาที่มีอาการต้องรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมง

เมื่อเกิดอาการเหล่านี้
1. โทร.1218 บริการ เรียกรถฉุกเฉิน 24 ชม.
2. รีบไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
3. ห้ามบีบนวด

6 เคล็ดลับ ห่างไกล STROKE
1. ต้องมาตรวจสุขภาพ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
2. ต้องขยันหมั่นออกกำลังกาย
3. ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้ยาเสพติด
4. ต้องไม่เครียด รู้จักการผ่อนคลาย
5. ต้องควบคุมน้ำหนักไม่ปล่อยให้อ้วน
6. ต้องควบคุมหากมีโรคเบาหวาน,ความดัน,ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ

และสุดท้าย การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่อยู่ใน ICU หรือระยะเฉียบพลัน (Early Rehabilitation) จะช่วยให้การฟื้นตัวทางด้านสมองและกำลังกล้ามเนื้อเร็วขึ้น และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ 

การฟื้นตัวที่ดีจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนไข้ ญาติหรือผู้ดูแล ทีมแพทย์ และทีม Stroke Coordinator เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกและเรียนรู้ทักษะบางอย่างใหม่ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

  • กายภาพบำบัด (Physical Therapy) ฝึกกำลังแขนขา การทรงตัว การเคลื่อนไหว การเดิน
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อการใช้งานของแขนและมือ ฝึกกลืน ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ฝึกทำกิจวัตรประจำวัน
  • อรรถบำบัด (Speech Therapy) ฝึกการพูด การหายใจ
  • ฟื้นฟูกระบวนการรับรู้ ความคิด และความจำ (Cognitive Function)
  • ฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าและปัญหาด้านสภาพจิตใจ (Depression and Psychosocial)
TAGS: #โรคหลอดเลือดสมอง #Stroke #สุขภาพ