ส่องนโยบายสาธารณสุข ดูแลบุคลากรสุขภาพ “ลดความเหลื่อมล้ำ”

ส่องนโยบายสาธารณสุข ดูแลบุคลากรสุขภาพ “ลดความเหลื่อมล้ำ”
จากเวทีดีเบต "นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66"  จาก 5 สำนักข่าว Hfocus,  The Better,  Today,  The Active  และคมชัดลึก รวม 6 พรรคการเมือง

จากเวทีดีเบต "นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66" เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566  โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง 3 พรรคเข้าร่วม  ซึ่งแต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ สิทธิการรักษาพยาบาล จำเป็นต้องรวม 3 กองทุน (บัตรทอง ประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ) หรือไม่ หรือควรยกระดับอย่างไร

เริ่มที่พรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันว่า ไม่รวม 3 กองทุนสุขภาพ เพราะที่ผ่านมามีการสอบถามประชาชนก็จะพบว่า สิทธิประกันสังคมจำนวนมากไม่ได้อยากรวมกองทุน แต่ต้องการสิทธิการรักษาที่เท่าเทียม อีกทั้ง แต่ละกองทุนทำงานคนละฟังก์ชั่น แต่หัวใจหลัก สิทธิการรักษาต้องเท่ากัน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมครอบคลุมโรคได้น้อยกว่าหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง

เรื่องภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อันดับแรกต้องลดงานเอกสารลง ซึ่งข้อมูลในปี 2556 มีคนรอคิวตรวจรักษาถึง 155 ล้านครั้ง แต่มาถึงปี 2565 กลายเป็น 300 ล้านครั้ง แสดงว่าการไปรอคิวเยอะมากเพียงระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆที่ประชากรไม่ได้เพิ่ม และประเด็นงานเอกสารก็เยอะเกิน จึงเสนอให้มีการทำเวชระเบียนออนไลน์ รวมทั้งการรับยาร้านขายยาที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนำร่องไปแล้ว 

สิ่งสำคัญต้องเป็นข้อมูลของประชาชนที่ประชาชนยินยอมในการขึ้นไปเก็บในชุดเก็บข้อมูล โดยจะมีการดีไซน์ที่มิใช่รัฐทำ แต่เป็นเอกชนที่รัฐสนับสนุน แต่ต้องอยู่บนความยินยอมของประชาชน ไม่ใช่ว่าทุกคนที่รักษาพยาบาลจะเอาขึ้นหมด ไม่ใช่ภาคบังคับ แต่บางคนมีความจำเป็นมาก เป็นโรคหลายอย่าง การทำแบบนี้จะอำนวยความสะดวก และลดค่าตรวจได้

พรรคภูมิใจไทย โดย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ชูนโยบาย 30 บาทรักษาถึงบ้านว่า   ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ทำงานมา 4 ปี อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพฯ จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ปรับเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ และนโยบายที่จะเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การปรับให้เป็น 30 บาทรักษาถึงบ้าน 

โดยมี อสม. ซึ่งเป็นจุดแข็งระบบสาธารณสุขของไทย โดย 3 ปีที่ผ่านมา อสม.ทำงานเชิงประสิทธิภาพของสาธารณสุขเชิงพื้นที่เข้มแข็งมาก  โดยเน้นมีการดูแลประชาชนถึงบ้าน มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมถึงที่ สำหรับคนเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนยังสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวไปรับยาได้  จากเดิมต้องขึ้นทะเบียนหน่วยบริการหลัก จะปรับเป็นทุกคนรักษาที่ไหนก็ได้ และสามารถรักษาที่บ้านได้ด้วย  มี 3 หมอ หมอแรก อสม. หมอที่สอง คือ รพ.สต. หมอคนต่อไป คือ รพ.

ปัญหาที่ผ่านมาคือช่วงโควิด มีจุดอ่อนและจุดแข็ง โดยระบบสาธารณสุขพื้นที่ค่อนข้างเข็มแข็ง แต่ในกทม.มีปัญหาเข้าถึงบริการ การเข้าถึงบริการคนกทม.มีปัญหา กระทรวงสาธารณสุขในช่วงโควิดได้ตั้งรพ.บุษราคัม และต่อไปนโยบายสำหรับคนกทม. คือ การตั้งโรงพยาบาลเครือข่ายคนสาธารณสุขในกทม. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น  

พรรคเพื่อไทยโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี   ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายสิทธิ์ที่เท่าเทียม หนึ่งผู้ซื้อสามกองทุน เสนอสร้างหนึ่งมาตรฐานภายใต้กองทุนประกันสุขภาพที่บริหารแบบองค์กรโดยให้ สปสช.เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ซื้อประกันสุขภาพให้ประชาชน  

นโยบายสาธารณสุขสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะนำเสนอคือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยในอดีตที่เป็นพรรคไทยรักไทย ได้เริ่มต้นไว้เมื่อประมาณ 22 ปีที่แล้ว ซึ่งในอดีตมีปัญหาเรื่องการรับบริการ แม้มีการรับบริการใกล้บ้าน แต่ยังมีเรื่องความไม่สะดวก 

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นเราต้องการให้ทุกคนได้เข้าถึงการบริการ ทั้งผู้มีปัญหาทางจิต ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จนมีสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทางใจมากขึ้น ที่สำคัญเราต้องยกระดับในเรื่องการพัฒนา ทำให้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในอดีตต้องขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล

โดยต่อไปนี้คนที่จะรับประกันดูแลสุขภาพประชาชน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ใดอีก สามารถรับบริการใกล้ใจได้ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว มีระบบ AI สามารถตรวจสอบระบบต่างๆ ที่ท่านใช้บริการมาทั้งหมด

ในส่วนของพรรคอื่นๆ ที่มีนโยบายสาธารณสุข เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ชูเรื่องจัดตั้งโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังมีนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชนจากครรถ์มารดาถึงเชิงตะกอน 

พรรคประชาธิปัตย์ชูเรื่องนมโรงเรียน 365 วัน, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกฏหมายอากาศสะอาด สุดท้ายคือ พรรคก้าวไกล ชูนโยบายตรวจสุขภาพประจำปี/ ฉีดวัคซีนฟรี, คลินิกเยาวชนดูแลสุขภาพจิต, ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ, ยกระดับ รพ.สต., ศูนย์ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง, สิทธิ์ตายดี, กองทุนติดเตียง 9,000บาท/คน และสุดท้ายลด ชม.การทำงานแพทย์

ความคิดเห็นจาก รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาในระบบสาธารณสุขไทยที่ยังรอการแก้ไขมีอยู่ด้วยการหลายมิติ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ปัญหาการกระจายตัวและการสร้างแรงจูงใจ ปัญหาภาระงานและชั่วโมงการทำงานของบุคลากรที่เข้าข่าย Workload และ Overload 

รวมถึงความต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ ซึ่งหากพิจารณาจากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในขณะนี้ พบว่านโยบายด้านสาธารณสุขเป็นเพียงแค่ส่วนสอดแทรกเท่านั้น จึงอยากให้พรรคการเมืองหันมาให้ความสนใจและแสดงความชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสุขภาพของคนไทยเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า ปัญหาเรื่องกำลังคนในระบบสุขภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้พบว่าบุคลากรมีภาระงานหนักมาก ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากความขาดแคลนและการกระจายตัว ซึ่งข้อเท็จจริง 

โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท พบว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีแพทย์ไม่เพียงพอ หลังทำงานช่วงกลางวันเสร็จก็ต้องอยู่เวรต่อ ถ้าวันนั้นเกิดมีผู้ป่วยอุบัติเหตุร้ายแรงเข้ามา แพทย์อาจต้องผ่าตัดทั้งคืน เมื่อถึงตอนเช้าก็จะมีคนไข้มารออีก แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง

การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่พรรคการเมืองพยายามชูขึ้นมา เนื่องจากชัดเจนว่าระบบบัตรทองเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากทุกพรรคการเมือง และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองย่อมหมายถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหมายถึงคะแนนเสียงทางการเมืองในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ ต้องไม่ลืมเรื่องความสมดุลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการกับประชาชนผู้รับบริการ ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ควรผ่านการปรึกษาหารือระหว่างทั้งสองฝ่าย พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายให้รอบด้าน ถึงจะมีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป และได้มาซึ่งประสิทธิภาพมากที่สุด

TAGS: #นโยบาย #สาธารณสุข #สุขภาพ