คนพิการทางสายตา มีสิทธิเลือกตั้ง

คนพิการทางสายตา มีสิทธิเลือกตั้ง
จากกรณีทวิตเตอร์  iLawClub ทวิตข้อความกรณีเจ้าหน้าที่กีดกันผู้ที่มาเลือกตั้งที่เป็นผู้พิการทางสายตาไม่ให้เข้าใช้สิทธิ The Better รวบรวมข้อมูลการเลือกตั้งสำหรับคนพิการมาไว้ที่นี่

จากกรณีทวิตเตอร์  iLawClub ทวิตข้อความกรณีเจ้าหน้าที่กีดกันผู้ที่มาเลือกตั้งที่เป็นผู้พิการทางสายตาไม่ให้เข้าใช้สิทธิว่า

#เลือกตั้ง66 บริเวณที่ว่างซอยนารถสุนทร 11 ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง เขต 3 จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ขรก.หญิงสวมชุดสีกากีไม่ให้ผู้พิการทางสายตาลงคะแนนเสียงแม้ว่า ผู้พิการจะพาลูกสาวไปช่วยลงคะแนนให้ด้วย โดยอ้างว่าจะให้คนอื่นเข้าคูหาไปได้อย่างไรและยืนยันว่าคนตาบอดไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 

ทางด้านส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงาน กศน. เผยสำหรับขั้นตอนของการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้พิการทางสายตานั้น ไม่ต่างจากคนตาดี  

มีเพิ่มเติมคืออุปกรณ์ที่ใช้ในการลงคะแนนที่ทาง กกต.จะทำขึ้น คือการทำบล็อคสำหรับทาบลงบนกระดาษลงคะแนนการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

ทางกกต.จะสำรวจว่าหน่วยใดมีผู้พิการทางสายตา เพื่อจัดทำบล็อก พร้อมทั้งเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ไว้สำหรับให้บริการ  สำหรับบล็อกจะมีเป็นกระดาษแข็งที่ตัดช่องสำหรับให้ลงคะแนน  

หลังจากตรวจสอบรายชื่อและแจ้งลำดับที่กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแล้ว  เจ้าหน้าที่จะนำบล็อกไปทาบกับกระดาษลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งต้องวางกระดาษให้ตรงกับบล็อค   

แล้วใช้คลิปหนีบไว้เพื่อกระดาษกระดาษลงคะแนนซึ่งจะพอดีป้องกันการคลาดเคลื่อน  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำเข้าคูหาแล้วออกมา เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้สิทธิ์   

เมื่อกาเลือกตั้งเสร็จแล้ว ผู้ลงคะแนนต้องพับกระดาษแล้วใส่ซอง ปิดผนึกให้เรียบร้อย แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นต์ชื่อกำกับ จากนั้นจึงนำไปหย่อนลงกล่องรับบัตร  จึงจะเสร็จสิ้นการลงส่วนคะแนน

ขั้นตอนไม่ต่างจากคนตาดี  เพียงแต่คนตาบอดเราต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างบล็อคกระดาษ  และก่อนเดินทางมาลงคะแนนจะต้องให้คนในครอบครัวตรวจสอบรายชื่อ 

เมื่อถึงหน้าคูหาก็จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจให้อีกครั้ง  เพื่อความถูกต้อง  ที่สำคัญคือการฟังนโยบายแต่ละพรรคในพื้นที่เลือกตั้งว่ามีชื่อพรรคอะไรบ้าง  มีนโยบายอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้วก็จะจำไว้  

ในส่วนของนักเรียนที่บกพร่องในการมองเห็น ซึ่งจะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนครั้งแรกนั้น  ในส่วนของกระบวนการการเลือกตั้งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบน่าจะมีบล็อกมาแนะนำวิธีการลงคะแนนก่อนการเลือกตั้ง  

เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองลงคะแนนก่อนที่จะไปเข้าสู่คูหาจริง   แนะนำขั้นตอน วิธีการ  ทางที่ดีควรมีการสอนเป็นประจำทุกปี  แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง  เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้สิทธิ์  และมีความรู้ ความเข้าใจในการลงคะแนนได้อย่างถูกต้อง

สำหรับในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาคือข้อกังวลในการเข้าคูหาของคนตาบอดและกลุ่มคนแก่ที่มองไม่เห็น การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา จะมีเจ้าหน้าที่มาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้  เรื่องการใช้อุปกรณ์  จึงมีข้อมูลให้ติดตามตามทางสื่อมวลชนต่าง ๆ   

แต่จากการสังเกตไม่พบการแนะนำในส่วนของการเข้าคูหาแต่อย่างใด  ในกลุ่มคนตาบอดและกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะต้องใช้ขนาดอักษรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อจะได้เห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น

สำหรับปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า ให้ความสำคัญถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง

จัดให้มีการอํานวยความสะดวกสําหรับการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนน ภายใต้การกํากับดูแลของกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เป็นผู้อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ณ หน่วยเลือกตั้งไว้เป็นพิเศษ ด้วยการจัดวางคูหาออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้ง

ให้คำนึงถึงความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยให้จัดวางคูหาอยู่ห่างจากคูหาอื่นอย่างน้อย 1.50 เมตร โต๊ะวางคูหาออกเสียงลงคะแนนมีความสูงไม่เกิน 0.75 เมตร และจัดเก้าอี้ไว้ในคูหาออกเสียงลงคะแนนด้วย

ให้คำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของคนพิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ หากไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้ กปน.หรือญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทน

โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น และให้ กปน. บันทึกการกระทำดังกล่าวลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) และให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ส่วนกรณีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลาง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงลงคะแนน ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยได้กำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ไว้จำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด

กรณีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ หีบบัตรเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนน ต้องกำหนดสีหรือมีเครื่องหมายแสดงหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละใบไว้ให้แตกต่างกัน และจัดให้มีการสื่อสารที่แสดงขั้นตอนและวิธีการออกเสียงลงคะแนน

พร้อมอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนไว้ให้แก่คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุด้วย

รวมทั้งจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์การเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการหรือทุพพลภาพ อย่างเสมอภาค ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดถึงความก้าวหน้า ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นมืออาชีพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

TAGS: #เลือกตั้ง #คนพิการ