ความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัวเป็นปัญหาในหลายๆ บ้านที่ต้องเผชิญ ความเห็นต่างเรื่องการเมืองทำให้เราถึงขั้นอยากทึ้งผมตัวเอง งงงวยไม่เข้าใจทำไมอีกฝ่ายถึงไม่ยอมตาสว่าง หรือทำไมอีกฝ่ายถึงเห็นผิดเป็นถูก
บิล ซัลลิแวน ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาเรื่องจุลชีววิทยาและพันธุกรรม อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Pleased to Meet Me หรือ 'ยินดีที่รู้จักฉัน' ว่า เราไม่เข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายถึงไม่เห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เราเห็น ซึ่งสิ่งที่เราเห็นแน่นอนว่าคือสิ่งที่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์นี้ได้ มีพื้นฐานด้านชีวภาพสำหรับความเป็นอนุรักษนิยมกับความเป็นเสรีนิยมหรือเปล่า
การผันแปรของยีนบางยีนทำให้คนเกิดแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพบางอย่าง การเรียนรู้ด้านการเมืองก็เช่นกัน งานวิจัยต่างๆเผยให้เห็นความสอดคล้องกันของฝาแฝด สนับสนุนแนวคิดที่ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมส่งอิทธิพลต่อการเมือง งานวิจัยแยกแฝดออกจากกัน เลี้ยงในสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน แต่กลับมีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนกัน
กล่าวโดยเจาะจงก็คือ ยีน DRD4 ยีนที่เข้ารหัสตัวรับโดปามีน การผันแปรของยีนอาจทำให้เกิดพฤติกรรม "ชอบความเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น" ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการชอบสำรวจ ทำการทดลอง และแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ นั่นหมายความว่า พวกเสรีนิยมหัวก้าวหน้ามีการผันแปรของยีนที่ชอบความเสี่ยง หรือ DRD4 มากกว่าพวกอนุรักษนิยม
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทดสอบว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเราถูกกำหนดมาแต่กำเนิดหรือไม่ ก็คือ การประเมินบุคลิกภาพของเด็กๆ แล้วดูว่าอีกหลายสิบปีต่อมาพวกเขาสนับสนุนพรรคการเมืองขั้วไหน
นักจิตวิทยา แจ็กและจีน บล็อก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กเลย์ ทดสอบกับเด็กอนุบาล และยี่สิบปีต่อมาพวกเขาตามหาเด็กเหล่านี้เพื่อตั้งคำถามเชิงการเมือง ผลการทดสอบเผยว่า มีลักษณะสำคัญบางอย่างในบุคลิกภาพของเด็กอนุบาลที่เชื่อมโยงกับแนวคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน
สำหรับฝั่งที่ดูเป็น "เสรีนิยม" ตอนเด็กครูมักจะบอกว่าเด็กผู้ชายเหล่านี้แก้ปัญหาเก่ง มีความคิดริเริ่ม พึ่งพาตัวเอง ภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนที่ค่อยๆก่อตัวขึ้น มั่นใจในตัวเอง และชอบคิดเชื่อมโยงกับตนเอง ส่วนเด็กผู้หญิงจะกล้าแสดงออก คุยเก่ง ขี้สงสัย กล้าเปิดเผยความรู้สึกด้านลบของตัวเอง ยอมรับการล้อเล่นของคนอื่น ฉลาด ชอบแข่งขัน และมีมาตรฐานสูง
ส่วนฝั่งที่ดูเป็น "อนุรักษนิยม" ตอนเด็กครูมักจะถูกมองว่าเด็กผู้ชายเหล่านี้แปลกแยกจากสังคม รู้สึกตนเองไม่มีค่า รู้สึกผิดง่าย ขุ่นเคืองกับคนอื่นง่าย วิตกกังวลเวลาเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่ไว้วางใจคนอื่น ชอบครุ่นคิด และไม่ยอมยืดหยุ่นเวลาอยู่ภายใต้ความเครียด
ส่วนเด็กผู้หญิงพวกเธอจะไม่กล้าตัดสินใจ อารมณ์แปรปรวน ตกเป็นผู้ถูกกระทำได้ง่าย ไม่กล้าแสดงออก ร้องไห้บ่อย ไม่เปิดเผยตัวตน ติดผู้ใหญ่ ขี้อาย มีระเบียบเรียบร้อย เชื่อฟังผู้อื่น วิตกกังวลเวลาต้องเผชิญความไม่แน่นอน และขี้กลัว
ความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างชัดเจนไปถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ไม่น่าแปลกที่พวกอนุรักษนิยมจะเคร่งศาสนา ส่วนพวกเสรีนิยมมักไม่ค่อยเชื่อศาสนาง่ายๆ จอห์น ฮิบบิ้ง นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเนแบรสกาเสนอว่าผู้ที่เป็นอนุรักษนิยมและเสรีนิยมตอบสนองต่อภาพที่ไม่น่ามอง หรือเสียงดังน่าตกใจแตกต่างกัน
โดยผู้ทีเป็นอนุรักษนิยมจะมีปฏิกิริยาทางร่างกายเป็นลบ ผู้เข้าร่วมการทดลองที่สะดุ้งตกใจเสียงและภาพที่คุกคาม มักชอบการป้องกันประเทศ โทษประหารชีวิต ความรักชาติและสงคราม ส่วนเสรีนิยมจะรักสงบ และกฏหมายควบคุมอาวุธปืน
การมองโลกที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่ายมีผลกระทบตามมาอย่างแท้จริง ตัวอย่างงานวิจัยปี 2017 วิเคราะห์ผู้สนับสนุนพรรคเดโมเครตและรีพับลิกันต่อนโยบายสาธารณะและการสาธารณสุข มองว่าอะไรคือสาเหตุของโรคอ้วนที่แพร่ระบาดในประเทศ ฝั่งรีพับลิกันมักโทษผู้ตกเป็นเหยื่อว่าเลือกสไตล์การใช้ชีวิตไม่ดีและไม่มีความตั้งใจ
ต่างกับเดโมเครตที่เห็นความซับซ้อนของปัญหานี้และเห็นว่ายีนส์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลต่อนโยบายฝั่งเดโมเครตมักชอบนโยบายขึ้นภาษีน้ำตาลหรือน้ำอัดลมเพื่อให้คนเลี่ยงซื้ออาหารขยะ ส่วนรีพับลิกันมักไม่ชอบที่รัฐบาลแทรกแซงช่วยเหลือคนอ้วน
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเสริมว่าอนุรักษนิยมมักจัดการปัญหาโดยใช้การควบคุมแบบกว้างๆ เพื่อเลี่ยงผลลัพย์ในเชิงลบ ส่วนเสรีนิยมจะใช้การแทรกแซงแบบพุ่งเป้าหมายเฉพาะกลุ่มโดยหวังให้เกิดผลลัพย์ในเชิงบวก
ตอนนี้พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมความคิดอันดีงามของเราที่โพสต์ลงกลุ่มไลน์ที่บ้าน หรือพยายามอธิบายต่อผู้ใหญ่ว่าทำไมเราถึงเลือกอีกฝ่าย ทำไมยังไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจพวกเขาได้ เพราะเราไม่ได้ขอให้เขาเปลี่ยนใจเท่านั้น แต่กำลังขอให้เขาเปลี่ยนสมองเลยด้วย
ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างสมองของเรามีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อภัยอันตราย ความเครียด และความขัดแย้ง ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงออกทางการเมืองของเรา