วูบวาบ หงุดหงิด นอนไม่หลับ สัญญาณเข้าสู่ "วัยทอง"

วูบวาบ หงุดหงิด นอนไม่หลับ สัญญาณเข้าสู่
ภาวะวัยหมดประจำเดือน หมายถึง ช่วงเวลาที่สตรีไม่มีประจำเดือนอีกต่อไปเมื่อรังไข่หยุดทำการผลิตไข่ วัยหมดประจำเดือนจะสมบูรณ์เมื่อประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม วัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นได้ระ

วัยทอง อยู่ในช่วงอายุ 45 – 55 ปี เมื่อย่างเข้าสู่วัยทองจะพบการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จนถึงหมดประจำเดือน ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ ได้หยุดทำงานแล้ว ถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

สังเกตได้จาก 3 สัญญาณ บ่งบอกอาการวัยทอง คือ 

1) จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวและหน้าอก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน 

2) ช่องคลอดแห้ง ผิวหนังแห้ง ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ความต้องการและความรู้สึกทางเพศลดลง

3) โรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สตรีวัยทอง สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 วิธี คือ 1) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ นม โยเกิร์ต งาขาว  งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น 

แคลเซียมที่รับเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน และกินอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในปริมาณพอเหมาะจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบของสตรีวัยหมดประจำเดือนได้  

2) ลดอาหารประเภทแป้ง  อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ 

3) ออกกำลังกายเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และให้ร่างกายได้รับแสงแดดบ้าง เพื่อช่วยในการสร้างวิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าที่รับน้ำหนักมาก อาจเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม 

4) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มความจำ ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว และ 5) รู้จักผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส

“ทั้งนี้ หากพบว่าอาการดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้น หรือ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้ารับบริการคลินิกวัยทอง คลินิกส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการวัยทอง และให้บริการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เพื่อประเมินอาการ รับคำแนะนำแนวทางการป้องกัน รักษา และดูแลตนเองที่ถูกต้อง ตามความเหมาะสมต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน พ.ญ.เมธชนัน เลิศชุณหะเกียรติ แพทย์หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3 แนะ เตรียมตัวรับมืออย่างไรดี ก่อนที่วัยทองจะมาเยือน

โดยให้หาโอกาสเข้ามาพบแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษา และทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว ร่างกายเราจะเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการอย่างไรบ้าง และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ให้สามารถผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุข 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง ก่อนที่ประจำเดือนจะหมดถาวร หรือในช่วงที่ประจำเดือนมาแบบ 2-3 เดือนครั้ง มาๆ หายๆ ตอนอายุ 40 ปีปลายๆ นั่นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ได้แล้วว่า ในอีกไม่ช้าเราก็จะเดินหน้าเข้าสู่วัยทองอย่างเต็มตัว

ดังนั้นช่วงนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ และเตรียมฟิตร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อถึงเวลาวัยทองจริงๆ ร่างกายที่ได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี จะมีความรุนแรงของอาการวัยทองลดลง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น

แม้เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงวัยทองไม่ได้ แต่วัยทองก็ไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดไป จะกินเวลาเพียงแค่ประมาณ 3-5 ปีเท่านั้น ดังนั้นหากเราสามารถดูแลตัวเองได้ดี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วล่ะก็ อาการวัยทองต่างๆ ที่คอยกวนใจเราก็จะค่อยๆหายไป

การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเป็นอย่างดี และเตรียมพร้อมตัวเองได้อย่างดีนั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการวัยทองรุนแรง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนได้ด้วย

TAGS: #วัยทอง #สุขภาพ #ผู้หญิง