ความเหลื่อมล้ำมีตรรกะเฉพาะตัว ความเหลื่อมล้ำคล้ายคลึงกับความยากจนในใจ หากอุดมสมบูรณ์และชีวิตดูมั่นคง เราก็น่าจะอายุยืนยาวและสุขภาพดี หากเป็นช่วงแร้นแค้นจะรีบคว้าทุกอย่างสนองความต้องการทันที
ความเหลื่อมล้ำของสังคมอาจจะไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สิน เงินทองเสมอไป แต่เป็นเรื่องของความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำทำให้คนรู้สึกยากจน และทำตัวยากจน แม้ที่จริงแล้วตนจะไม่ได้ยากจนก็ตาม ความเหลื่อมล้ำคล้ายคลึงกับความยากจนในใจจนเกิดแนวคิด "ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว"
คีธ เพย์น ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเพิลฮิลล์ ผู้เขียนหนังสือ The Broken Ladder หรือชื่อภาษาไทย เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำ ผ่านแว่นจิตวิทยา กล่าวว่าแนวคิดที่ว่าใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว ตามมุมมองด้านวิวัฒนาการ
การใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมมีสองแบบเท่านั้นคือ เพื่อเอาตัวรอดและเพื่อสืบพันธุ์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนได้อย่าง เสียอย่าง เมื่อเลือกว่าจะใช้พลังงานในทางใด (ในที่นี้หมายถึงเฉพาะพลังงานในเซลล์ และพลังงานจากการเผาผลาญ ไม่ได้หมายถึงพลังงานเมื่อลงแรงและตั้งอกตั้งใจ)
สิ่งมีชีวิตอาจต้องใช้พลังงานมากมาเพื่อดำรงชีวิต และยังใช้พลังงานเพื่อการสืบพันธุ์ แน่นอนว่าเราไม่อาจควบคุมได้เองว่าจะเลิอกได้หรือเสียอะไร แค่ระบบสรีระต่างๆ ในร่างกายคอยควบคุมพลังงานที่ใช้เพื่อสร้างเสริมส่วนที่ซ่อมแซมส่วนต่างๆ อยู่เสมอ
แล้วการลงทุนในเรื่องใดทำให้เรามีโอกาสส่งต่อยีนได้มากที่สุดเพิ่ออยู่รอดหรือสร้างชีวิตใหม่ ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้ เหตุผลข้อหนึงเลยก็คือ ตอนนั้นเป็นช่วงอุดมสมบูรณ์หรือแร้นแค้น
หากอุดมสมบูรณ์และชีวิตดูมั่นคง เราก็น่าจะอายุยืนยาวและสุขภาพดี จึงมีลูกหลานได้มากขึนหากไม่รีบร้อนและรอจนกว่าจะพร้อมสำหรับการเลี้ยงดูลูกให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยกำเนิด เราควรทำทุกสิ่งเพื่อให้เลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ พวกเขาจะได้อยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไป บางทีเราอาจช่วยเลี้ยงหลานด้วยซ้ำ
แล้วหากเป็นช่วงแร้นแค้นล่ะ อนาคตที่ไม่แน่นอน เราอาจมีชีวิตอยู่ไม่นานพอจะรอมีลูกในภายภาคหน้า ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ หากรีบมีลูกและมีบ่อยครั้งจะได้ประโยชน์มากกว่า หากคิดจะมีลูก หนทางที่ดีที่สุดคือ "มีลูกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"
นักชีววิทยาวิวัฒนาการเรียกแนวทางแรกว่า "ยุทธศาสตร์แบบช้า" ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ส่วนแนวทางที่สองเรียกว่า "ยุทธศาสตร์แบบเร็ว" ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ "ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว" (live fast, die young)
นักจิตวิทยา มาร์โก วิลสัน และมาร์ติน เดลี ค้นหาคำตอบของทฤษฎีที่นักจิตวิทยา เจย์ เบลสกีและคณะเสนอว่า ผู้หญิงจะมีลูกเร็วหากเติบโตมาในสภาพแวดล้อมลำบาก เครียด หรือสับสนอลหม่าน โดยทำการศึกษาในเมืองชิคาโกที่ประกอบด้วยย่านต่างๆ จากการดูอายุเฉลี่ยของผู้หญิงในย่านต่างๆของเมืองที่คลอดลูกคนแรก และพบว่าผู้หญิงในย่านยากจนมีลูกเร็วดังคาด
จากนั้นพวกเขาก็หาสหสัมพันธ์ระหว่างอายุขณะคลอดลูกคนแรกกับอายุคาดเฉลี่ยในแต่ละย่าน เพราะตามมุมมองด้านวิวัฒนาการแล้ว อายุขัยคือปัจจัยสร้างแรงกดดันสำคัญที่สุดให้สิ่งมีชีวิตสืบพันธุ์เร็วขึ้น ผลการวิจัยชี้สหสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากจนแทบจะสอดคล้องกันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
กล่าวคือ เมื่ออายุคาดเฉลี่ยต่ำลง อายุของผู้หญิงเมื่อเริ่มมีลูกก็น้อยลงด้วย ตรงตามแนวคิดที่ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้วคาดการณ์ไว้ เมื่อคนตายไวขึ้นก็จะมีลูกไวขึ้น
ตลอดหลายปีที่งานวิจัยนี้เกิดขึ้นก็มีงานวิจัยอื่นมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่า ผู้หญิงที่เติบโตในสภาพแวดล้อมยากจนหรืออันตรายจะมีลูกเร็วกว่า โดยเฉลี่ยแล้วยังมีลูกมากกว่าอีกด้วย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งต่อยีนนั่นเอง
ดูเหมือนทฤษฎีที่เบลสกีนำเสนอจะมีข้อมูลสนับสนุน ทว่าเขาไม่ได้คาดกรณ์แค่ว่าผู้หญิงจะมีลูกเร็วขึ้น แต่ยังเสนอด้วยว่า ยุทธศาสตร์มีลูกเร็วและบ่อยของผู้หญิงที่เติบโตในสภาพแวดล้อมลำบาก ไม่ใช่การตัดสินใจเลือก แต่เป็น "การตอบสนองต่อความแน่นอนและไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อม"
ผลการทดลองนี้ยังนำทฤษฎีไปอีกทิศทางนึงด้วย การเป็นสาวเร็วและมีลูกเร็วไม่ได้สัมพันธ์กับอายุคาดเฉลี่ยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความยากจน และระดับความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค
ความรู้สึกร่ำรวยหรือยากจนแม้ชั่วขณะก็อาจทำให้คนเรามองไม่เห็นการณ์ไกล มิตช์ คัลแลน นักจิตวิทยาและคณะคาดการณ์ว่า เมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองยากจน ก็จะมองแค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าและคว้าอะไรก็ตามที่จะได้มาทันทีโดยไม่สนใจอนาคต และเมื่อตนเองรู้สึกร่ำรวยก็จะมองการณ์ไกล
งานวิจัยที่คัลแลนได้ทำคือลองให้ผู้เข้ารับการทดลองตอบคำถามการตัดสินใจทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น "ถ้าให้เลือกระหว่างเงิน 100 ดอลลาร์ที่ได้เลยวันนี้ กับเงิน 120 ดอลลาร์ในสัปดาห์หน้า คุณจะเลือกแบบไหน แล้วถ้าหากเลือก 100 ดอลลาร์วันนี้กับ 150 ดอลลาร์ในสัปดาห์หน้าล่ะ"
ผลวิจัยพบว่า เมื่อตนรู้สึกว่าตนยากจน ผู้เข้าร่วมจะเอนเอียงไปทางความรวดเร็ว โดยเลือกตอบสนองความต้องการทันที แต่เมื่อรู้สึกว่าตนร่ำรวยกว่าผู้อื่น ผู้เข้าร่วมจะมองการณ์ไกลมากขึ้น
ผลการทดลองเหล่านี้ค้นพบว่า มุมมองของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ แม้ไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กอย่างยากจน หรือร่ำรวยมาตลอด แค่เพียงรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มั่งมีเท่ากับคนอื่นก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้เรามองชีวิตแบบ "ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว"