อยากให้ลูกอารมณ์ดี ลองฝึก EQ ให้ลูก รับมือปัญหาทางอารมณ์

อยากให้ลูกอารมณ์ดี ลองฝึก EQ ให้ลูก รับมือปัญหาทางอารมณ์
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็ก นักวิจัย และแพทย์แล้ว มีมุมมองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ความรุนแรงของเด็กในครอบครัวเกิดจากพ่อแม่ การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมในครอบครัว

แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยถึงวิธีการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ของเด็กในวัยที่แตกต่างกันว่า พ่อแม่ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ พร้อมแนะว่าเด็กแต่ละวัยจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน

ธรรมชาติของเด็กมีสองอย่างก็คือ ธรรมชาติตามวัย เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น เขาก็ยังมีธรรมชาติ หรือลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันในแต่ละคนด้วย

สมองของเด็กมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็จะมีการทำลายเครือข่ายที่สร้างขึ้นไปแล้วด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้เช่นกัน หากพ่อแม่ไม่ทำลายเครือข่ายที่ไม่เป็นประโยชน์

บางทีไปทำลายเครือข่ายที่ดีของเด็กด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ใหญ่ตีเด็กที่กำลังร้องไห้พร้อมขู่ว่าถ้ายังไม่เงียบจะไม่หยุดตี จะส่งผลให้สมองของเด็กคนนั้นเรียนรู้ว่า มีอารมณ์ไม่ได้ และเกิดการกดอารมณ์ตัวเอง

ทั้งนี้ พฤติกรรมการกดอารมณ์จะไม่เป็นผลดีต่อเด็กในอนาคต และอาจเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมขึ้นได้ ทางออกของปัญหานี้คือ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับลูกว่าลูกกำลังมีอารมณ์โกรธ เสียใจ โมโห ฯลฯ ให้เด็กได้รู้จักกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ด้วยตนเอง และพยายามผ่อนคลายอารมณ์ของเด็กลง

เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็กๆ คุณหมอระบุว่า ไม่ถึงกับต้องมาพบจิตแพทย์ แต่หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ พ่อแม่ต้องแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเลี้ยงลูก จึงจะทำให้ครอบครัวมีความสุขได้

ศูนย์สมองดี Healthy Brain แนะ 7 นิสัยดี สร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของลูก

1. EQ ดี เริ่มที่พ่อแม่
เพราะ พ่อแม่คือคนที่อยู่ใกล้ชิดลูก คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูก ถ้าพ่อแม่เอาแต่เกรี้ยวกราด โมโห เหวี่ยงใส่ลูกบ่อยๆ ลูกก็จะซึมซับอารมณ์ที่ว่านี้ไปจากพ่อแม่ เขาจะโตขึ้นกลายเป็นเด็กที่มีอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราดง่าย 

2. ช่วยเฟ้นหาความสามารถพิเศษในตัวลูก แล้วคอยให้กำลังใจ
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลและสังเกตอย่างใกล้ชิด ถ้าเห็นว่าลูกชอบวาดรูป แม้จะยังไม่สวยหรือดูไม่ค่อยออกว่าวาดเป็นรูปอะไร  แค่ลูกจับดินสอหรือระบายสีเป็นประจำ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองสนับสนุน 

3. ให้ลูกสวดมนต์ และ ทำสมาธิ
วิธีนี้นอกจากจะทำให้แกเป็นเด็กที่มีสมาธิขึ้นแล้ว ยังรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น ยิ่งฝึกตั้งแต่เด็ก รับรองว่าจะเป็นเด็กที่ใจเย็น มีสติอยู่กับตัว

4. ลูกต้องหัดแสดงความคิดเห็นและรับฟังเป็น
อาจจะหาเวลาพูดคุย ให้ลูกๆ ถาม-ตอบ โอกาสสมมุติต่างๆ ปล่อยให้เด็กๆพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพูดคุยถึงเหตุผล และ ให้ลูกรับฟัง  แรกๆอาจจะยังทำไม่ได้  แต่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ลูกจะค่อยๆ ปรับอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้นได้

5. พูดคุยและรับฟัง เมื่อลูกเกรี้ยวกราด
การที่ลูกกำลังโมโห พ่อแม่อย่าเพิ่งดุลูกอย่างเดียว เข้าไปพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของลูก แสดงให้เขาเห็นว่านี่คือความโกรธ ทำไมเขาถึงโกรธ บอกเล่าถึงเหตุผล ถ้าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง และ ให้วิธีทางในการตอบโต้ที่ดีกว่า

6. ใช้กีฬาเข้าช่วย
เพราะการเล่นกีฬา ย่อมมีแพ้และชนะสลับกันไป เมื่อเขาชนะก็ต้องสอนเขาว่า อย่าคาดหวังมากเกินไป เพราะวันหนึ่งเขาอาจจะเป็นฝ่ายแพ้บ้างก็ได้ และ เมื่อเขาแพ้ก็ต้องสอนให้เขามีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้  เพื่อวันหนึ่งจะกลับมาเป็นผู้ชนะบ้าง

7. ความรักจากพ่อแม่สำคัญที่สุด
เด็ก ๆ บางคนแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด เพราะจริงๆ แล้วเขารู้สึกว่าอยากได้ความรักจากพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่สนใจ เลยทำตัวเรียกร้องความสนใจ หากคุณพ่อคุณแม่หมั่นแสดงความรัก ทำให้เขารู้สึกว่า พ่อแม่รักเขาเสมอ และเขาสำคัญกับพ่อแม่ ด้วยการยิ้ม โอบกอด อารมณ์เกรี้ยวกราดของเขาจะค่อยๆ ลดลงได้เอง

อย่างไรก็ดี ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถส่วนหนึ่งของคนเราที่เกี่ยวข้องกับ การรับรู้ ความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง และ นำเอาพลังแห่งอารมณ์และความรู้สึกนั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย

TAGS: #สุขภาพจิต #EQ #เด็ก #ครอบครัว