Tic disorder หรือ ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ คือการกระตุก ตามที่ต่างๆ ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจเช่น กระพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ
ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนประสบปัญหาเด็กๆ มีพฤติกรรมแปลกๆ ผู้ใช้ Tiktok รายนึงเผยพฤติกรรมแปลกๆ ของลูกสาวช่วงที่ผ่านมาเช่นทำคอยึกๆ ภายใน 2 นาทีทำคอยึกๆ ไปกว่า 20 กว่าที บางช่วงกระพริบตาถี่ๆ บางทีก็กระแอมตลอด
โดยมีผู้มาคอมเม้นต์แนะนำให้คุณแม่รีบพาลูกสาวไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากน้องน่าจะมีอาการ TICS หรือโรคกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ และยังมีคอมเม้นต์ที่ร่วมแชร์ประสบกราณ์เด็กที่บ้านมีพฤติกรรกระพริบตาถี่ หนักคอ กระแอมเช่นกัน
อะไรคืออาการ Tic disorder
Tic disorder หรือ ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ คือการกระตุก ตามที่ต่างๆ ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก
ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ บางครั้งมีการออกเสียงที่ผิดปกติร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายพบทั้งกล้ามเนื้อกระตุกและออกเสียงผิดปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคติกส์ เป็นโรคในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ (movement disorders) มักพบในเด็กวัยเรียน (5-7ปี) โดยมาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวซ้ำรูปแบบเดิมที่ไม่มีจุดประสงค์
ส่วนมากผู้ป่วยมักมีความรู้สึกภายในบางอย่างนำมาก่อนที่จะเกิดอาการเคลื่อนไหว และเมื่อเคลื่อนไหวแล้วจะทำให้ความรู้สึกหายไปเหมือนได้รับการปลดปล่อย หากผู้ป่วยพยายามบังคับไม่เคลื่อนไหวจะทำให้รู้สึกอั้นไม่สบายใจ
อย่างไรก็ตามผู้ปวยสามารถที่จะอดกลั้นต่อความต้องการที่จะเคลื่อนไหวผิดปกติได้ในระยะเวลาสั้นๆ (temporary suppression) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคติกส์
โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิก ขาดความมั่นใจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเกิดความผิดปกติตามมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถานประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ป่วยบางรายอาจมา ในรูปแบบการส่งเสียงผิดปกติ เช่น กระแอม เสียงกลืนน้ำลาย หรือกรณีมีอาการมากอาจเป็นลักษณะการพูดซ้ำ พูดเลียนแบบ หรือ พูดหยาบคาย เป็นต้น
แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการแสดงทั้งการเคลื่อนไหว และการส่งสียงผิดปกติ จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์ ในโรคกลุ่มนี้อาจมีอาการของกลุ่มโรคจิตเวชนำมาก่อน เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น เป็นต้น
ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคติกส์ อาจเกิดจากกาถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคเฉพะตัวบุคคลที่เกิดภายหลัง เช่น เกิดจากการติดเชื้อในสมองตอนเด็กหรือเป็นโรคออทิสติก เป็นต้น
ประเภทของกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ มี 2 แบบ
กล้ามเนื้อกระตุก (Motor tics)
พบได้บ่อยในเด็ก เป็นการกระตุกที่เริ่มจากใบหน้า อาทิ กระพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ โดยมักจะเปลี่ยนที่กระตุกไปเรื่อยๆ ซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่เฉพาะเจาะจง บางคนถึงกับลามไปกระตุกที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น
- คอ โดยมักพบอาการ สะบัดคอ เอียงศีรษะ
- ไหล่/แขน มักพบอาการแขนที่แกว่งไปมา
- ขา มักพบอาการแกว่งขา หรือมีการกระดิกเท้า
อาการส่งเสียงผิดปกติ (Vocal tics)
อาการนี้จะพบได้น้อยกว่าแบบแรก ที่กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุก มักพบเป็นอาการแบบกระแอม ไอ ส่งเสียงเหมือนอึกอักในคอ สะอึก มีอาการแบบสูดน้ำมูก หรือกระทั่งเด็กบางคนอาจส่งเสียงมาเป็นคำ ทั้งคำที่มีความหมายหรืออาจไม่มีความหมายใดๆ ก็ได้
เด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะพบว่าเป็นโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่?
จากการศึกษาพบว่าเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก จะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
พญ. วิรัลพัชร อัครชลานนท์ สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวชเผยการรักษาโรค TICS และการช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุกสามารถทำได้ดังนี้
- ปรับพฤติกรรม ฝึกและควบคุมอาการ การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโต ที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง
- ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง
อาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือการส่งเสียงออกมาแบบไม่ตั้งใจนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือแกล้งทำ พ่อแม่หรือคนรอบตัวเด็กต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ต่อว่าตำหนิ ไม่ล้อเลียน ไม่ทักหรือห้ามใดๆ จนทำให้เด็กเครียด เพราะถ้ายิ่งเครียดอาการยิ่งเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติตัวต่อเด็กกลุ่มนี้ คือ อย่าแสดงกริยาต่างๆ ไม่ทัก ไม่ล้อ ไม่ต่อว่า เมื่อเด็กมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก แต่ให้หาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเครียดแล้วช่วยแก้ไข เช่น ถ้าเห็นเด็กมีอาการ ควรหาทางให้เด็กได้พักผ่อนหรือเบี่ยงเบนให้น้องทำกิจกรรมผ่อนคลาย ที่สำคัญควรปรึกษากุมารแพทย์
หากเด็กมีอาการที่โรงเรียน คุณครูก็ต้องทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยเช่นกัน พ่อแม่อาจหาวิธีบอกหรือแจ้งผู้ปกครองในเบื้องต้น ว่าอาการของเด็กนั้นไม่ร้ายแรง ไม่ได้ติดต่อ ขอความร่วมมือว่าห้ามทัก ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม หากพบว่าเด็กมีอาการ ให้พาเด็กไปพักผ่อน หรือหากิจกรรมผ่อนคลายให้เด็กทำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ให้เด็กทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักและเหนื่อยเกินไป ขจัดความเครียดให้เด็ก ข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด พยายามไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลต่ออาการกล้ามเนื้อกระตุก และที่สำคัญที่สุด ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางดูแลป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพ
- การรักษาด้วยยา โดยปกติแล้วตัวโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ อาการจะมาเป็นระยะ อาจไม่ต้องรักษาโดยใช้ยา แต่ถึงแม้ไม่ได้ส่งผลเสียกับร่างกาย ก็อาจส่งผลเสียและผลกระทบทางจิตใจ เพราะเพื่อนและคนรอบข้างล้อเลียนจนทำให้ต้องอาย
เด็กบางคนมีอาการมือสั่นหรือสะบัด จนเขียนหนังสือไม่ได้ หรือกระตุกและส่งเสียงจนเสียบุคลิกมากจนเกินไป เช่น อาการกระตุกหรือส่งเสียงออกมามากจนกลายเป็นการรบกวนชีวิตประจำวัน การกินยาจะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ โดยกินเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงของอาการตามแพทย์พิจารณา ไม่ต้องกินไปตลอด
- รักษากับโรคที่ตรวจพบร่วม การรักษาส่วนนี้ แพทย์จะรักษาร่วมกับโรคหรืออาการอื่นๆ เช่น เด็กที่พบโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน เพราะเด็กกลุ่มที่พบโรคอื่นร่วม ความเครียดในตัวเด็กจะส่งผลให้โรคกล้ามเนื้อกระตุกมีอาการเพิ่มขึ้น
จากเหตุกราณ์ข้างต้นทางคุณแม่ได้พาลูกสาวไปพบแพทย์ ตามคำแนะนำของคุณหมอให้งดเล่นโทรศัพท์จ้องจอมือถือ เนื่องจากอาการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่ถึงอาการ TICS แค่กล้ามเนื้อทำงานหนักแล้วล้า โดยให้งดจอต่อไป หากิจกรรมอื่นให้ทำ รับประทานวิตามินร่วมกับยาคลายเครียดกล้ามเนื้อ