โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) รู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างไว้ ไม่สามารถทิ้งสิ่งไหนได้เลย เพราะคิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ในอนาคต
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ทำให้มีพฤติกรรมชอบเก็บสิ่งของต่าง ๆ ไว้ โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายใจหากต้องทิ้งสิ่งของที่เก็บไว้ การสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็นไว้จะทำให้บ้านรก และเป็นที่สะสมของฝุ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ข้อมูลจาก ผศ. พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า “Hoarding Disorder” เป็นโรคที่ผู้ป่วยรู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างไว้ ไม่สามารถทิ้งสิ่งไหนได้เลย เพราะคิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ในอนาคต สาเหตุของโรคเกิดได้จากหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งมาจากทางพันธุกรรม
ร้อยละ 50 ของคนที่เป็น พบว่าคนในครอบครัวก็เป็นโรคนี้ด้วย และอีกหนึ่งปัจจัยมาจากความผิดปกติทางสมองของผู้ป่วยที่เลือกเก็บสะสมของบางชนิด
อีกสาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของคือ เหตุการณ์อันเลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจอาจทำให้เกิดโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ เช่น
- การหย่าร้าง คนที่รักเสียชีวิต และการสูญเสียทรัพย์สินจากไฟไหม้
- การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุรุนแรง
- การถูกทำร้ายร่างกาย กลั่นแกล้ง เหยียดเชื้อชาติและสีผิว
หรือเกิดจากสาเหตุ โรคประจำตัว การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง โรคทางจิต เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม
โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (PWS) และการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจเกี่ยวข้องกับโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและจะแสดงอาการชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และอาจพบมากในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปอีกด้วย
อาการของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
- เก็บสะสมสิ่งของจำนวนมากไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน
- เก็บของที่มีค่าและไม่มีค่า เช่น ใบปลิว หนังสือพิมพ์ จดหมาย ใบเสร็จรับเงิน หนังสือ เสื้อผ้า ถุงพลาสติก ขวดน้ำ เศษอาหาร รวมถึงอีเมล ไฟล์งาน รูปภาพ คลิปวิดีโอ และข้อความแชทในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- หลีกเลี่ยงที่จะคิดจัดการกับสิ่งของที่เก็บไว้ ไม่กล้าทิ้งสิ่งของ และกังวลใจมากเมื่อต้องทิ้งหรือนำไปให้คนอื่น
- คิดว่าของทุกชิ้นสำคัญและควรเก็บไว้ เพราะไม่มีสิ่งอื่นทดแทนได้ หรือคิดว่าอาจได้ใช้ในอนาคต
- รู้สึกผูกพันกับสิ่งของมากจนไม่อยากทิ้ง เพราะทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุข หรือเป็นตัวแทนของคนหรือสถานที่ในความทรงจำ หรือรู้สึกปลอดภัยและสบายใจเมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งของที่เก็บไว้
- หาสิ่งของที่ต้องการไม่เจอ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ตามปกติ เช่น ไม่มีที่เดิน ไม่สามารถใช้ห้องน้ำ ห้องนอน และห้องครัวได้ เพราะเต็มไปด้วยสิ่งของจำนวนมาก
- รู้สึกไม่พอใจเมื่อคนอื่นมาช่วยจัดหรือนำสิ่งของที่เก็บไว้ไปทิ้ง หรือไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง
ปัญหาที่ตามมาจากอาการชอบสะสมสิ่งของ
- เกิดปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการเก็บสะสมสิ่งของทำให้ทำความสะอาดลำบาก เกิดการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค นอกจากนี้ อาจกลายเป็นแหล่งของมีสัตว์มีพิษและแมลงได้
- เกิดอุบัติเหตุ เช่น สะดุดหกล้ม และขวางทางหากเกิดเหตุไฟไหม้หรือเหตุด่วนเหตุร้ายที่ต้องหนีออกมาจากบ้าน
- เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ทะเลาะกับคนในครอบครัว คนที่พักอาศัยด้วย ได้รับคำตำหนิจากเพื่อนบ้าน หรือคนที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจสะสมสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งของ เช่น สะสมสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมวจำนวนมาก ซึ่งสัตว์มักถูกขังอยู่ในกรงหรือจำกัดบริเวณ และมักไม่ได้รับการดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ความสะอาดของสัตว์เลี้ยงและที่อยู่ และการไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์อย่างเหมาะสม
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของแตกต่างจากคนที่สะสมของที่ชอบ เช่น สแตมป์ และหนังสือการ์ตูน เพราะการสะสมของเหล่านี้จัดเป็นงานอดิเรกที่มาจากการตั้งใจเก็บเฉพาะของบางอย่างอย่างมีระบบระเบียบ และไม่ได้เก็บของอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น จึงไม่ส่งผลเสียการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพ
ผลกระทบของโรค
- ส่งผลต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้
- ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุภายในที่อยู่อาศัย
- อาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่น ๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม
- วัยที่เสี่ยงต่อโรค
- เริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น
- จะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และเริ่มแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่ยอมทิ้งอะไรเลย โดยจะเก็บไว้จนรกบ้าน
- วิธีการรักษา
- รักษาได้ด้วยยา ที่จะช่วยปรับสารเคมีในสมองเกี่ยวกับวิธีคิด
- รักษาได้ด้วยการบำบัด พฤติกรรม และความคิด