ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีมักจะมีผู้เสียหายจากการหลงเชื่อลงทุนในบริษัทที่ต่อมากลายเป็นแชร์ลูกโซ่ ทำความเข้าใจจิตวิทยาของการหลงเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว เมื่อคนเราต่างหลุดหลงไปเชื่อเรื่องไม่จริงได้ทั้งนั้น
หลายต่อหลายครั้งที่เราได้เห็นข่าวผู้คนมากมายตกหลุมพราง หลวมตัวลงทุนถือหุ้นไปกับบริษัทที่ตอนสุดท้ายกลับกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่สำคัญไปกว่านั้นผู้ที่ตกเป็นข่าวไม่ได้เป็นชาวบ้ายตาสีตาสา แต่กลับเป็นเหล่าคนดัง ผู้มีความรู้ที่กลับหลงเชื่อเรื่องไม่จริง หลายครั้งที่เราเมินเฉยที่จะตรวจสอบความจริง
มีคนโง่เกิดใหม่ทุกนาที
ซอเรน เคียร์เคอการ์ด นักเทววิทยา ชาวเดนมาร์กสมัยศตวรรษที่ 19 กล่าวไว้ว่า "วิธีที่คนจะถูกหลอกมีอยู่สองวิธี หนึ่งคือเชื่อสิ่งที่ไม่จริง และอีกวิธีคือปฏิเสธที่จะเชื่อสิ่งที่เป็นจริง" ยกตัวอย่างอันโด่งดังในไทยที่ยังคงดำเนินคดีและมีผู้เสียหายอยู่คือคดี Forex-3D แก๊งแชร์ลูกโซ่ ที่สะเทือนทุกวงการที่มีคนดังร่วมเอี่ยวเพียบ มูลค่าความเสียหายกว่า 40,000 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น สหรัฐอเมริการก็เคยเกิดกรณีการหลอกลงทุนครั้งใหญ่ที่สะเทือนไปทั้งแวดวงการเงิน นักลงทุนซึ่งทำผู้ลงทุนเสียหายไปกว่า 20ล้านเหรียญในปี 1920 หรือประมาณ 200 ล้านเหรียญเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน
บริษัทหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนเบอร์นาร์ด แอล. แมดอฟฟ์ จำกัด (Bernard L. Madoff Investment Securities; BLMIS) ก่อตั้งโดย เบอร์นาร์ด เเมดอฟฟ์ ในปี 1960 ดำเนินการเป็นตัวกลางซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ โดยคดีแชร์ลูกโซ่แมดอฟฟ์ถือเป็นแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
แมดอฟฟ์ทำอย่างไรถึงลอยนวลมาได้ตั้งหลายปี
เบอร์นาร์ด เเมดอฟฟ์ คือหนึ่งพ่อมดการเงินแห่งตลาดหุ้น หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการเคารพยกย่องที่สุดในอุตสาหกรรมการเงิน อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก เขามีชื่อเสียง มีอิทธิพลและเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดในวงการแห่งตลาดการเงิน แทนที่จะบริหารกองทุนถูกกฏหมาย เขากลับบริหารแชร์ลูกโซ่ หรือการฉ้อฉลแบบพอนซีที่ยาวนานที่สุดของประเทศ
แชร์ลูกโซ่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Ponzi Scheme ซึ่งตั้งตามชื่อของ ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) ที่กลายเป็นคนดังในทางฉาวจากการใช้แชร์ลูกโซ่หลอกเงินคนอื่นในช่วงปี 1920
พอนซีเคยให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนคนที่นำเงินมาลงทุนกับเขา 50% ของเงินต้น ภายใน 45 วัน และ 100% ภายใน 3 เดือน แต่สุดท้ายแชร์ลูกโซ่ของเขาก็ล้มลง สร้างความเสียหายราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะนั้น หรือราว 257 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
คำถามจึงไม่ใช่ว่าแชร์ลูกโซ่จะล่มสลายหรือไม่ แต่เป็นจะล่มสลายเมื่อไรต่างหาก
เราต่างหลุดหลงไปเชื่อเรื่องไม่จริงได้ทั้งนั้น
จากมุมมองของจอห์น วี. เพโทรเซลลี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาผู้โด่งดังจากคลิปไวรัล Why BS is more dangerous than a lie (ทำไมเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวจึงอันตรายยิ่งกว่าเรื่องโกหก) บนเวที TEDx Talks กล่าวไว้ในหนังสือ The Life-Changing Science of Detecting หรือชื่อไทยคือ จับให้ได้ว่าใครมั่ว ว่า
"ผมไม่เชื่อว่าความสำเร็จจากกลโกงของแมดอฟฟ์เป็นผลลัพธ์ของทักษะการโน้มน้าวขั้นเทพ ที่จะทำให้เขามีพลังพิเศษลวงนักลงทุนให้ยกเงินของตัวเองให้เขาได้หน้าตาเฉย อันที่จริงแล้วนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เคยเจอหรือพูดคุยกับแมดอฟฟ์ด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าการที่แมดอฟฟ์ประสบความสำเร็จเพราะเขาได้รับความช่วยเหลือจากนักลงทุนกว่าสี่พันรายที่ หลงเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวง่ายโดยธรรมชาติ"
งานวิจัยบ่งชี้ว่าหลายคนเป็นทุกข์จากความมืดบอดมองไม่เห็นเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว หรือการหลงเชื่อง่าย กล่าวคือ พวกเขายอมรับเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวว่าเป็นข้อเท็จจริง เพราะไม่อาจถอดรหัสการแสดงออกในบริบทสังคมได้ว่าพวกปั้นน้ำเป็นตัวเพิกเฉยต่อความจริง
หรือมิได้ลงมือทำอะไรที่สมเหตุสมผลเพื่อค้นหาความจริง คนที่เชื่อคนง่ายก็เชื่อง่ายจริงๆ ทั้งที่บางเรื่องกลิ่นทะแม่งๆโชยมา แต่คร้านจะสนใจคำเตือน
การเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวของคนอื่นง่ายๆ เป็นเหตุผลหนึ่งว่าเหตุใดจึงมีคนใช้กลเม็กพอนซีได้สำเร็จ ไม่ต้องเป็นพ่อมดการเงินตลาดหุ้นก็หลอกมวลชนให้ควักเงินก้อนใหญ่ได้ เมื่อเขาแสดงให้เห็นว่าคนลงทุนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนได้ นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ใน BLMIS เป็นคนฉลาด ละเอียดลออ เป็นคนประเภทที่คุณคงไม่คิดว่าจะเจอพวกเขาตกหลุมแผนฉ้อฉลครั้งใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น เจอโรม ฟิชเชอร์ ผู้ก่อตั้งรองเท้าสตรีทแบรนด์ไนน์เวสต์ หรือจะเป็น สตีเวน กรีนสแปน อาจารย์คลินิกแห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด เป็นที่รู้จักดีในแวดวงจิตวิทยาจากผลงานเขียน ประวัติศาสตร์แห่งการเชื่อคนง่าย กลับจับไต๋กลต้มตุ๋นของแมดอฟฟ์ไม่ได้
ต่างกับแฮร์รี่ มาร์โคโพโลส ชายผู้เฝ้าติดตามการปั้นน้ำเป็นตัวของแมดอฟฟ์และพยายามเรียกร้องให้คนสนใจเรื่องดังกล่าวมา 9 ปี จากการเป็นผู้บริหารธุรกิจหลักทรัพย์และนักบัญชีนิติวิทยาอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตทางบัญชี เขาสาวย้อนกลับไปพบหลักฐานกลโกงตั้งแต่ปี 1999 และเรื่อยมาในปี 2000, 2001 และ 2005
มาร์โคโพโลสแจ้งเตือนไปยังก.ล.ต. ว่าแมดอฟฟ์จะทำแชร์ลูกโซ่อยู่ เขากล่าวว่า "ก.ล.ต.ไม่เคยจับได้ไล่ทัยคุณแมดอฟฟ์เลย เขาทำเงินไปถึง 100,000 ล้านเหรียญ ทั้งที่ผมใช้เวลา 5 นาทีก็คิดออกแล้วว่าเขาโกง ผมเหลือบมองตัวเลขและรู้ได้ทันที 'นี่ไม่มีทางเป็นจริง นี่มันของเก๊แล้ว' เมื่อผมสืบสาวตัวเลขต่อไป ปัญหาก็เริ่มโผล่ขึ้นมาชัดเจน อย่างกับรถแวนสีแดงกลางทุ่งหิมะเลยเชียว"
ทำไมคนถึงหลงเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว
วิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ที่รู้จักกันในชื่อการศึกษาเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวยังคงอยู่ในระยะตั้งไข่ มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ไม่มากนักที่ไขความกระจ่างให้เราเข้าใจ ว่าการเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวง่ายคืออะไร พัฒนาขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงมีเยอะนัก องค์ประกอบที่มีส่วนเสริมสร้างพฤติกรรมหลงเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวง่ายได้แก่ บุคคล บริบท การรู้คิด อารมณ์ และแรงจูงใจ
สถานการณ์ที่แวดล้อมพฤติกรรมของคนเรามีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก และการประพฤติตน แต่เราก็มักเบลอใส่บทบาทที่บริบทมีต่อพฤติกรรม บริบทมีส่วนผสมโรงให้คนเชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวได้ง่าย
มหากาพย์แชร์ลูกโซ่ของแมดอฟฟ์นั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าคนฉลาดก็กลายเป็นนักลงทุนใสซื่อที่มองข้ามความเสี่ยงและสัญญาณเตือนไปได้
มีเหตุผลอย่างน้อยสองข้อในเรื่องนี้ที่งานค้นคว้าเชิงรู้คิดพูดถึงได้แก่ 1. แม้แต่คนสติปัญญาสูงก็ยังพลาดไม่ตั้งคำถามอย่างมีวิจารณญาณง่ายๆ กับตัวเองเมื่อเจอเข้ากับเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว 2. คนสติปัญญาสูงไม่ได้มีภูมิต้านทานต่อปัญาหาเรื้อรังในการคิด มากไปกว่าคนสติปัญญาน้อยกว่า
ปัญหาเรื้อรังไม่น้อยเลยที่ทำหน้าที่เหมือนภาพลวงตาทางการรู้คิด และไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะขาดแรงจูงใจ หรือว่าขาดพลังสมองที่ต้องใช้ประเมิน ก็ล้วนเสริมให้เชื่อเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวง่ายขึ้น