โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน แนะป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ชี้ โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน แนะป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ปวดข้อ ผื่นขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “โรคชิคุนกุนยา” (Chikungunya) หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออกแต่ไม่รุนแรงเท่า
โรคชิคุนกุนยา มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่อง สำหรับในรายที่รุนแรงอาจพบเกล็ดเลือดต่ำและมีอาการช็อกได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อครบระยะฟักตัวผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน โดยอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน และไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย บางรายอาจมีอาการบวมที่มือและเท้า หรือมีอาการคันร่วมด้วย รวมทั้งอาจจะมีตาแดง
อาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่ คืออาการปวดข้อร่วมกับมีการอักเสบ มักพบที่ นิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยมักจะพบได้หลายข้อและเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางรายอาจมีอาการรุนแรงทำให้ไม่สามารถขยับข้อได้
โดยอาการปวดข้อช่วงแรกมักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้ออาจอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่สำหรับในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่
ต่างจากโรคไข้เลือดออก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยเผย ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมีพาหะเป็นยุงลาย โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน
ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัดอาจเกิดการติดเชื้อและมีอาการได้ ไวรัสเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4
โดยทุกสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดไข้เลือดออกได้ มนุษย์จึงสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกี่ซ้ำได้หลายครั้ง เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว
อาการมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ สำหรับผู้ที่มีอาการ จะมีอาการที่เด่นชัดคือ
- ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส)
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดกระบอกตา
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ปวดท้อง (โดยเฉพาะด้านขวาบน)
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- อาจมีเลือดออกที่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขาลำตัว
ที่พบบ่อยถัดมาคือ
- เลือดกำเดาไหล กรณีมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่นทางเดินอาหารจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำและซีดอย่างรวดเร็ว ถ้ายิ่งมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วยอาการเลือดออกก็จะรุนแรงมาก
- บางรายที่เมื่อไข้ลงแล้วจะมีภาวะช็อคตามมา ภาวะช็อกจากไข้เลือดออกเกิดจากการที่สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด สามารถทำให้มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ซึม ชัก หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้
ทางด้านนายแพทย์ภาณุวัฒน์ วงษ์กุหลาบ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม อายุรแพทย์ โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคชิคุนกุนยามีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก
โดยผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ในรายที่รุนแรงอาจมีเกร็ดเลือดต่ำและมีอาการช็อกแต่พบได้น้อยมาก บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น
โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน โรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปโรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการของโรค เช่น การให้ยาลดไข้ (ควรทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้และอาการปวด) แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดในกลุ่มต้านอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อและสามารถแยกโรคได้จากโรคไข้เลือดออก
การรักษาด้วยตัวเองสามารถำได้ในเบื้องต้น โดยผู้ป่วยควรทำดังนี้
- เช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยลดไข้
- ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ยุงกัด เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ทายากันยุง ติดตั้งอุปกรณ์กันยุง เช่นมุ้งลวดภายในบ้าน
- ทั้งนี้ ควรเก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ภาชนะที่ใส่น้ำจะต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทรายหรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา