อาหารไม่ย่อย อิ่มไว หนึ่งในอาการ “มะเร็งรังไข่”

อาหารไม่ย่อย อิ่มไว หนึ่งในอาการ “มะเร็งรังไข่”
“มะเร็งรังไข่” โรคที่ติดอันดับยอดฮิตที่พบในเพศหญิงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ เกิดจากการที่มีเซลล์บริเวณรังไข่เกิดความผิดปกติกลายเป็นมะเร็ง

“มะเร็งรังไข่”เกิดจากการที่มีเซลล์บริเวณรังไข่เกิดความผิดปกติกลายเป็นมะเร็ง ทางด้าน อ.พญ.ณัฐชา พูลเจริญ ฝ่ายสูตินรีเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากรังไข่เป็นอวัยวะที่มีขนาดเล็กและอยู่ในช่องท้อง ทำให้เมื่อเกิดเป็นมะเร็ง

อาจมีอาการไม่ชัดเจน และเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น การทำความเข้าใจในมะเร็งรังไข่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันให้เรารับมือได้อย่างถูกวิธี

สังเกตอาการ “มะเร็งรังไข่”

  • ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ท้องบวม ท้องแข็ง
  • คลำเจอก้อนเนื้อในช่องท้อง
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือกลั้นไม่อยู่
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ท้องผูกเรื้อรังหรือมีความผิดปกติของการอุจจาระ
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาหารไม่ย่อย อิ่มไว รับประทานอาหารได้น้อยลง     

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่

  • มีประวัติครอบครัว หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม
  • สตรีวัยกลางคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  • มีประจำเดือนไวกว่าปกติ และหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
  • มีประวัติการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคอ้วน และมีความผิดปกติของยีน
  • สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร

โรคมะเร็งรังไข่รักษาได้อย่างไร ?
วิธีรักษา คือ การผ่าตัด และการใช้เคมีบำบัด ทั้งนี้ วิธีการรักษา หรือจำนวนครั้งของการให้ยาเคมีบำบัด อาจขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ตรวจพบ หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้เร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ และมีผลการรักษาที่ดี

ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจภายในประจำปี หากมีการตรวจเจอความผิดปกติที่รังไข่ ควรเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม และหากตรวจเจอเชื้อมะเร็ง ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นฃ

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในกรุงเทพ ยังเสริมการป้องกันเพื่อเลี่ยงเกิดอาการโดย ดูแลการรับประทานอาหารที่ปลอดสารก่อมะเร็งและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีอยู่เสมอ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจจับมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย

ในส่วนการรักษา โรคมะเร็งรังไข่โดยใช้หลากวิธี

  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบๆ ออก หรืออาจรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
  • การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การใช้ยาเม็ด ยาฉีดเข้าเส้นเลือดหรือผ่านสายเข้าในช่องท้อง
  • การใช้รังสีรักษา (มีการใช้รักษาแต่น้อยในมะเร็งรังไข่) เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง การใช้รังสีอาจเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายและฉายตรงเข้าสู่ร่างกาย
  • การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาหรือสารอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม

ทั้งนี้ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง หากไม่ทำการรักษาเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปที่บริเวณช่องท้องหรืออวัยวะอื่นในร่างกายได้

TAGS: #มะเร็งรังไข่ #ผู้หญิง #สุขภาพ