ความเจ็บปวดคือพื้นที่ๆ เราจะไม่มีวันเข้าใจ จนกว่าจะได้เข้าไป

ความเจ็บปวดคือพื้นที่ๆ เราจะไม่มีวันเข้าใจ จนกว่าจะได้เข้าไป
ทำความเข้าใจความเจ็บปวด และการรับมือความเศร้า เพระเราไม่ได้โดดเดี่ยว หรืออยู่ตัวคนเดียวกับ 5 Stages of Grief หรือ 5 ระยะ ก้าวผ่านความสูญเสีย

หลายครั้งที่เราต้องเผชิญมรสุมในชีวิต อกหัก ตกงาน ล้มละลาย หรือคนรักตายจาก เรื่องราวไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แต่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจไปได้อีกยาว หลายคนใช้เวลาเป็นเดือน หลายคนใช้เวลาเป็นปี และหลายคนใช้เวลาทั้งชีวิต จะรับมืออย่างไรเมื่อเวลานั้นมาถึง

ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ว่าเวลาแห่งความเสียใจจะมาเมื่อไหร่ อาจจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่เรากำลังทำงานอยู่ หรือแค่นั่งทานข้าวอยู่ เหตุการณ์ร้ายๆมักเกิดขึ้นโดยไม่เลือกเวลา แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายมาถึง และเราไม่สามารถย้อนเวลาได้ สิ่งที่ทำได้คือรับมือกับความสูญเสีย

5 Stages of Grief หรือ 5 ระยะ ก้าวผ่านความสูญเสีย โดย ดร.เอลิซาเบธ คูเบลอร์ รอสส์ จิตแพทย์ ชาวสวิส-อเมริกัน ได้สร้างรูปแบบในการอธิบายภาวะการสูญเสียขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระยะดังนี้ 

  1. Denial หรือภาวะปฏิเสธความจริง จากหนังสือ The Year of Magical Thinking ของผู้เขียนโจแอน ดิเอียน บอกเล่าความรู้สึกสูญเสียสามีอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อวันหนึ่งเธอต้องบริจาคของๆสามีแต่กลับไม่กล้าจะทิ้งรองเท้าของเขา เพราะกลัวว่าหากเขากลับมาจะต้องมีให้เขาใส่ กว่าจะยอมรับความเสียใจนี้ได้เธอได้ใช้เวลาร่วมปี เพื่อจะผ่านจุดที่ทำความเข้าใจความเศร้าในครั้ง
  2. Anger หรือความโกรธ ความโกรธนั้นถือเป็นอารมณ์แรกๆ ที่อาจแสดงออกมาผ่านทางความคิดพฤติกรรม หรือคำพูด โดยภายใต้ความโกรธเรากลับมีอารมณ์อื่นๆ ปะปนกันอยู่ข้างใน เช่น ความกลัวความเศร้า ความสับสน ความรู้สึกผิด เป็นต้น เริ่มโทษ โกรธ เกลียดบุคคลที่จากเราไป แม้จะไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม ควรหาใครสักคนช่วยรับฟังเรื่องราวต่างๆ เพื่อเข้าสู่ระยะต่อไป
  3. Bargaining หรือการเจรจาต่อรอง ระยะที่เราอยากกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเราจะรู้สึกสับสน พยายามหาคำตอบเพื่อมาชดใช้ในสิ่งที่ทำพลาดไป หลายคนก็จะอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม เช่น ถ้าฉันใช้เวลาอยู่กับเธอมากกว่านี้ เธอคงไม่ไป หรือถ้าฉันทำงานในวันหยุดมากกว่านี้เขาคงเห็นว่าฉันมีคุณค่ามากเพียงใด อยากจะขอโอกาสอีกครั้ง
  4. Depression เข้าสู่ความสิ้นหวัง เริ่มรู้ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่าเราต้องยอมรับและคงเปลี่ยนผลลัพธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จะเริ่มไม่อยากอยู่ต่อ ไม่เห็นหนทางอื่นในชีวิต หลายคนชิงจบชีวิตตนเองในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเก็บตัว ไม่ยอมพบใคร ใช้เวลาไปกับการร้องไห้คร่ำครวญ หากรู้สึกแย่มากๆจนส่งผลต่อชีวิตประจำวันก็แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์
  5. Acceptance ขั้นตอนนี้จะเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ยอมรับความเป็นจริง ถึงแม้จะยังไม่ได้หายดี ยังไม่ได้ถึงขั้นมีความสุข แต่ก็เริ่มสงบ เริ่มอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ช่วงนี้ลองหากิจกรรมหรือสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ เราจะจบระยะสุดท้ายนี้ไปในที่สุด เช่นยอมรับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคนรัก และรับรู้ได้ว่าฉันโชคดีที่ได้มีเวลาอันแสนวิเศษกับเธอ เธอจะยังอยู่ในใจฉันตลอดไป

ดร.ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร กล่าวว่า การมีกรอบความคิดเรื่องความเศร้าโศกไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยใกล้ตายหรือผู้สูญเสียสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักว่า แต่ละช่วงของความเศร้าโศกนั้น เขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไร หรือเมื่อเหตุร้ายนั้นเกิดขึ้นกับตนเอง อย่างน้อยก็ยังเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจตนเองได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์น่าจะเป็นเช่นไร

TAGS: #สุขภาพจิต #ความเศร้า #การสูญเสีย