แอสตร้าเซนเนก้า เผยผลสำรวจประชากรกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทยกว่า 60% ยังคงได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตจากโควิด-19
แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะเริ่มหายไป ผู้คนส่วนใหญ่รวมถึงองค์กรเริ่มจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มากแล้ว แต่ที่จริงโควิด-19 ยังคงมีอยู่ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบ XBB เกือบทั้งหมด
โควิด 19 สายพันธุ์ที่พบ XBB เกือบทั้งหมด การติดเชื้อช้ำไม่ใช่เรื่องแปลก
ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา
22 มิถุนายน 2566
การระบาดของโควิดเป็นไปตามฤดูกาล ในฤดูฝนตามที่เคยคาดการณ์ไว้และคงจะระบาดไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และจะเริ่มลดลงในเดือน กันยายน
สายพันธุ์ที่พบขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ XBB โดยพบว่าสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลัก
จากข้อมูลการศึกษาของเรา พบว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดในอดีต โดยเริ่มต้นจาก สายพันธุ์อู่ฮั่น และเพิ่มสายพันธุ์ BA.5 ในวัคซีน 2 สายพันธุ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB ได้
การติดเชื้อซ้ำอย่างที่เคยกล่าวแล้ว การศึกษาของเรา 250 คน พบว่าความรุนแรงทั้งที่ 2 น้อยกว่าครั้งแรกมาก
การจะติดเชื้อครั้งที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นใหม่ได้อีก โควิด19 ก็เช่นเดียวกันเมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นได้อีกแต่ภูมิคุ้มกันหลัก พอช่วยปกป้องลดความรุนแรงลงแต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ
สร้างความเข้าใจเกี่ยวภาวะทางสุขภาพและเตรียมความพร้อม
ทางด้านแอสตร้าเซนเนก้า ตระหนักถึงผลกระทบและความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชากรอีกนับล้านคนทั่วโลก จากผลสำรวจที่สะท้อนเสียงของกลุ่มประชากรที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวภาวะทางสุขภาพและเตรียมความพร้อมให้กับประชากรกลุ่มนี้ถึงแนวทางในการป้องกันตนเอง แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้วก็ตาม
สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าเผยถึงผลสำรวจในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง (607) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรราว 500,000 คนในประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและอาจเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อทำความเข้าใจและแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดย ราว 60% ของกลุ่มตัวอย่างได้เผยว่า โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสังคมและการทำงาน
นายโรมัน รามอส ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าวัคซีนและมาตรการป้องกันโควิด-19 อื่นๆ ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 ได้ แต่สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ แอสตร้าเซนเนก้า จึงมุ่งเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับการดูแล สุขภาวะให้กับประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงทางเลือกอื่นๆ ในการป้องกันและการรักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด-19”
จากผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า 40-44% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 และมีประวัติเคยได้รับวัคซีนมาก่อน คือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งถึงแม้ว่าจะเคยได้รับวัคซีนมาแล้วก็ตาม ประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมีแนวโน้มสูงที่จะเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU)2 รวมถึงมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะรักษาตัว
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทย ยังคงเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทยกลับพบว่า กว่า 87% เชื่อว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วต่อการป้องกันโควิด-19 ในขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างถึง 92% มีความสนใจและอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19
ผลการสำรวจดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรดังกล่าว ตามเป้าหมายของแคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” จาก แอสตร้าเซนเนก้า การส่งเสริมความตระหนักรู้ในวงกว้างจะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19
นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า “สถานการณ์โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไปหากได้รับเชื้อ ดังนั้น หากเรามุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต เราต้องให้ความสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”
ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่
• กลุ่มเสี่ยงสูง (607) ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค
• ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง
• ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
• ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
• ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
• ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรได้รับยา
แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้สานต่อ แคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการปกป้องผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของตนเอง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตนรวมถึงทางเลือกอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19