มุมปากไม่ขยับ ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก”

มุมปากไม่ขยับ ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก”
สังเกตอาการให้ดีปวดหลังหู เริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ สัญญาณเตือนโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก พบในคนพักผ่อนน้อย ทำงานหนัก เครียด

ทำความรู้จัก “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” หรือ Bell’s palsy  ที่พิธีกรชื่อดัง มดดำ – คชาภา ตันเจริญ กำลังเผชิญอยู่หลังจากมีอาการปากเบี้ยวและหลับตามาสนิท เป็นเหตุให้ต้องเข้าแอดมิตที่โรงพยาบาลเมื่อกลางดึกวันที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมา ทางเพจแฉ ได้ออกมาอัปเดตอาการและสรุปการวินิจฉัยจากคุณหมอ หลังมดดำได้เข้ารับการสแกน MRI ซึ่งระบุข้อมูลว่า 

“สรุปการวินิจฉัยจากคุณหมอของคุณมดดำ เช้านี้

จากการสแกน MRI เพื่อหาสาเหตุและสิ่งผิดปรกติ ผลปรากฏว่าเส้นเลือดส่วนสมองมีอาการปรกติ ไม่พบก้อนเนื้อบริเวณ กกหู ไม่พบความผิดปรกติอื่นร่วม จึงสันนิษฐานสาเหตุของการที่มีอาการปากเบี้ยวและหลับตาไม่สนิทบริเวณด้านขวานั้นเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นการถูกกระตุ้นบางอย่าง พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย ความดันผิดปรกติ หรืออาการเครียดสะสม ซึ่งอาการสามารถหายขาดได้ภายใน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

โดยหมอจะให้ยารักษาอาการไปรับประทานต่อที่บ้าน และให้คนไข้บริหารใบหน้าด้วยตัวเองบ่อยๆ ให้คนไข้พูดเยอะๆ พยายามใช้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าเยอะๆ ช่วงแรก และหากคนไข้มีเวลาสามารถรักษาอาการด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าหรือฝังเข็ม บริเวณกล้ามเนื้อใบหน้าได้ ดังนั้นจึงสบายใจได้ว่า อาการของคุณมดดำจะค่อยๆดีขึ้นและหายในเร็วๆ นี้ครับ (คุณหมอกล่าว) ขอบคุณนะคะ”

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) คืออะไร

ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้า หรือเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้

อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นอย่างไร

อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง โดยจะมีอาการ ดังนี้

  • มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ใบหน้าชา
  • ไม่สามารถยักคิ้วได้ ตาปิดไม่สนิท หนังตา และมุมปากตก รับประทานน้ำแล้วไหลออกมาจากมุมปาก
  • บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณหลังใบหู  
  • มีอาการระคายเคืองที่ตา รู้สึกตาแห้ง หรือมีน้ำตาไหล
  • รับรสชาติได้น้อยลง

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

  • หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย และหลังคลอดบุตร
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
  • ผู้ที่มีภาวะเครียดสูง ทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการของโรคปากเบี้ยวจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ อาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียวเพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท หรือรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใด ข้างหนึ่ง

อาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วย พูด ยิ้ม หรือกะพริบตา บางรายอาจเป็นมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนสังเกตว่าพูดไม่ชัด ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้

  • โดยทั่วไป อาการของโรคจะหายไปภายในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ประมาณ 10 % ของผู้ที่เคยเป็นโรคBell’s palsy มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้ามของใบหน้า หรือด้านเดิมก็ได้
  • โรคนี้ไม่ร้ายแรง ถ้าหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา จะหายได้เกือบ 100% ภายใน2 เดือน

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
  • ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
  • สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
  • ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
  • ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยกระตุ้นใบหน้าข้างที่อ่อนแรง เช่น laser

อ้างอิง 1 2

TAGS: #โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก #สุขภาพ #มดดำ