ความงมงายเกิดจาก”พื้นฐานทางอารมณ์” ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์

ความงมงายเกิดจาก”พื้นฐานทางอารมณ์” ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์
อธิบดีกรมสุขภาพจิตเตือนกลุ่มศรัทธา “ครูกายแก้ว” อย่าให้ถึงขั้นงมงาย ต้องใช้สติในการพิจารณา เผยหลักจิตวิทยาคนยึดมั่นสิ่งเหนือธรรมชาติ มักต้องมีความหวังที่อธิบายไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์

สำนักข่าว Hfocus เผยบทสัมภาษณ์พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนกรณีกระแสการเคารพบูชา “ครูกายแก้ว” อย่าให้ถึงขั้นงมงาย ต้องใช้สติในการพิจารณา

จากกระแสสังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงการเครพครูกายแก้ว รูปปั้นขนาดใหญ่กลางกรุง การที่คนไปเคารพสิ่งต่างๆ มากขึ้นเป็นเพราะต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นการสะท้อนภาวะทางจิตใจที่มีความเครียดมากขึ้นด้วยหรือไม่  

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก ว่าคนไปเชื่อถือ ศรัทธา มากขึ้นหรือไม่ เพราะไม่มีตัวเปรียบเทียบว่า เดิมเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็อาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มคนที่เชื่อถือศรัทธา สิ่งเหนือธรรมชาติแบบอื่นๆ พอมีรูปแบบใหม่ๆ มา ซึ่งคนกลุ่มเดิมได้เปลี่ยนมาศรัทธาสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาแทนที่ได้ อย่างไรก็ตาม กระแสที่ดูเหมือนมีจำนวนมากนั้น อาจเป็นเพราะโซเชียลมีเดียไปเร็วมาก ประกอบกับถ้าเราเสพข้อมูลอะไรในโซเชียลฯ สิ่งนั้นๆ  ก็จะป้อนเข้ามาให้เราได้รับรู้เพิ่มขึ้น

โดยหลักการทางด้านจิตวิทยา สำหรับผู้เชื่อถือ หรือยึดมั่นใจสิ่งเหนือธรรมชาติมากๆ ส่วนหนึ่งก็จะมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งจับต้องได้ ก็เป็นไปได้ที่จะไขว่คว้าหาสิ่งธรรมชาติ หรืออภินิหารต่างๆ เพื่อประคับประคองจิตใจ เป็นทางเลือกของความหวังอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหากชีวิตจริงๆ มีเหตุผล มีความหวังที่เป็นจริงมากขึ้น ความรู้สึกคลายตัวจากสิ่งเหนือธรรมชาติก็จะเบาบางลงได้

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า ความศรัทธาที่ทำให้เรา คิดดี พูดดี ทำดี เป็นเรื่องที่ดี  แต่ความศรัทธาที่นำไปสู่ความสูญเสีย โดยปราศจากเหตุผลจะไม่ใช่ศรัทธาแล้ว แต่จะเป็นความงมงาย

ดังนั้น ต้องมีสติ เตือนตัวเอง ถามตัวเองเสมอว่า ศรัทธาจะนำมาสู่ความสูญเสีย ค่าใช้จ่าย ถือเป็นความหวังที่ซื้อได้ด้วยเงินจริงหรือ ถูกต้องหรือไม่ ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องเตือนสติตัวเองด้วยเหตุด้วยผลที่ดี

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ดังนั้น เราต้องตระหนักว่า ข้อมูลเหล่านี้ที่เข้ามา อาจเพราะเราเข้าไปในข้อมูลเหล่านี้มีส่วนร่วมกับข้อมูลเหล่านี้หรือไม่

ซึ่งจะสะท้อนถึงจิตใจของเราในอารมณ์ด้านลบ หรือเริ่มมีความคิดที่ถูกเชื่อมโยงไปในทางลบ อันนี้สำคัญเป็นหัวใจต้องเตือนตัวเอง และตั้งหลักว่า โลกที่เราเห็นตอนนี้ไม่ใช่โลกทั้งหมด และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมายึดติด และไหลตามไปเรื่อยๆ

“หลักการง่ายๆ ในการเสพข้อมูลที่ไม่ทำให้เครียด  คือ การกำกับตัวเองให้ออกจากการเสพข้อมูล  หรือออกจากสื่อในรูปแบบนั้นๆ แต่หากติดอกติดใจและรู้สึกว่าขาดการรับรู้ไม่ได้ แทนที่จะรับสื่อนั้นๆทางตรง ให้รับสื่อทางอ้อมผ่านบุคคลที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ หรือมีวุฒิภาวะ

และอีกอย่างในการดึงเราออกจากสื่อที่มีแง่มุมลบๆ คือ การค้นหามุมบวก โดยดูแง่มุมอื่นๆ ข่าวสารอื่นๆที่มีทิศทางสร้างสรรค์ และสร้างความผ่อนคลาย ทำให้เราเข้าใจ ได้พัฒนาความรอบรู้ต่างๆมากขึ้น” พญ.อัมพร กล่าวทิ้งท้าย

TAGS: #ครูกายแก้ว #จิตวิทยา #สุขภาพจิต