การใช้ Binaural beats นั้นเหมือนการฟังเพลงทั่วไป แต่เป็นคลื่นเสียงที่สามารถช่วยบำบัดโรควิตกกังวล เครียด สามารถเพิ่มสมาธิ และส่งเสริมให้ร่างกายตื่นตัว แต่ยังออกฤทธิ์คล้ายการใช้สารเสพติดได้ด้วย
แม้จะไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากการแพทย์ว่าการใช้เสียงบำบัด หรือ Binaural beats จะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น รักษาโรควิตกกังวล ความเครียด และความผิดปกติด้านอารมณ์ได้ แต่กราฟังคลื่นเสียงผ่านหูฟังสเตอริโอสามารถส่งผลต่อใครหลายๆคนที่ต้องการการบำบัดจิตใจได้โดย การทำงานของ Binaural beats แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบด้วยกัน
- รูปแบบ Delta: Binaural beats ในรูปแบบเดลต้าทำงานที่ความถี่ 0.5–4 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการนอนหลับแบบไม่เกิดความฝัน คนที่ได้รับความถี่รูปแบบเดลต้าระหว่างการนอนหลับจะเข้าสู่ระยะการนอนหลับลึกขึ้น ตามผลการสแกนสมองด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)
- รูปแบบ Theta: เป็นความถี่ 4–7 เฮิร์ตซ์ รูปแบบทีต้ามีส่วนทำให้เกิดสมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ และการนอนหลับดีขึ้นในระยะการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างรวดเร็ว (REM)
- รูปแบบ Alpha: เป็นความถี่ 7–13 เฮิร์ตซ์ กระตุ้นให้เกิดการผ่อนคลาย
- รูปแบบ Beta: อยู่ที่ความถี่ 13–30 Hz ช่วงความถี่นี้อาจช่วยส่งเสริมสมาธิและความตื่นตัว อย่างไรก็ตามอาจทำให้เพิ่มความวิตกกังวลในช่วงที่สูงกว่าได้
- รูปแบบ Gamma: รูปแบบความถี่นี้มีช่วง 30–50 Hz ผู้เขียนการศึกษาแนะนำว่าความถี่นี้ช่วยให้รักษาความตื่นตัวในขณะที่บุคคลตื่น
การใช้ Binaural beats นั้นเหมือนการฟังเพลงทั่วไป ผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก หรือช่องทางการฟังเพลงอย่างยูทูป แต่ที่ควรระวังคือ ไม่ควรฟัง Binaural beats ขณะที่ต้องตื่นตัว หรือต้องใช้สมาธิในการเพ่งความสนใจ เช่น ระหว่างขับรถ
ออกฤทธิ์คล้ายยาเสพติด หรือ "Digital drugs"
จากเดิมวัตถุประสงค์ของการใช้การบำบัดด้วย Binaural beats อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจต้องการลดความวิตกกังวล ในขณะที่บางคนอาจต้องการเพิ่มสมาธิหรือเพิ่มระดับการทำสมาธิให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและอารมณ์ของจิต
แต่งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับ Binaural beats อ้างว่าการบำบัดดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตได้ การศึกษานั้นได้ตีพิมพ์ลงใน Drug and Alcohol Review อ้างข้อมูลมาจาก Global Drug Survey 2021 ซึ่งรวบรวมคำตอบจากผู้คนมากกว่า 30,000 คนใน 22 ประเทศ เริ่มมีการใช้ Binaural beats หรือ Digital drugs มากขึ้น
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้ Binaural beats เพื่อผ่อนคลายหรือหลับ (ร้อยละ 72) และเพื่อปรับอารมณ์ (ร้อยละ 35) ในขณะที่ร้อยละ 12 รายงานว่าพยายามให้ได้ผลคล้ายกับยาประสาทหลอน
ดร. โมนิกา บาร์รัตต์ จากมหาวิทยาลัย RMITเมลเบิร์น ออสเตรเลียกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องใหม่มาก เราแค่ไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับการใช้ Binaural beats เป็น Digital drugs” บาร์รัตต์เสริม “การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ"
มีการรายงานการใช้ Binaural beats เพื่อสัมผัสประสบการณ์ร้อยละ 5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าได้ลองใช้แล้ว ในขณะที่ในประเทศเม็กซิโกและบราซิลรายงานว่ามีการใช้งานสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกันที่ร้อยละ 14 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับ
ในส่วนของเว็บไซต์สตรีมมิ่งวิดีโอ เช่น YouTube และ Vimeo เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการฟัง ตามมาด้วย Spotify และแอปสตรีมมิ่งอื่นๆ
เว็บไซต์ เดอะสปินออฟ เผยบทความทดลองใช้ Binaural beats ที่สามารถออกฤทธิ์ได้เหมือนยาเสพติด โดย Binaural beats ในสตรีมมิ่งวิดีโอจะมีชื่อตัวยากำกับ เพื่อให้เลือกฟังตามความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น กลุ่มเพลงที่ใช้สำหรับทำสมาธิหรือฝึกการใช้สติ มักจะใช้ชื่อว่า Cannabis (กัญชา) หรือ MDMA (ยาอี) เป็นต้น
โดยผู้ทดลองกล่าวว่า "มันทำได้แค่ใกล้เคียง แต่ไม่ถึงกับทำให้เรา Get high ได้" ไม่เฉพาะแต่คลื่นเสียงที่ทำให้ออกฤทธิ์เหมือนยาเสพติด แต่คลื่นเสียงอื่นๆ เช่น Lucid dreaming หวังว่าจะเปลี่ยนค่ำคืนฝันร้ายให้กลายเป็นสดใส แต่กลับตรงกันข้าม
เมื่อฟังเสียงดังกล่าวผ่านไป 50 นาที ก่อนจะถอดหูฟังเข้านอน สิ่งที่พบในฝันกลับเป็นการขับรถที่วกไปวนมา ไม่สามารถกลับบ้านได้ GPS นำทางพังเท่านั้น หรือการฟังคลื่นเสียงเพื่อเพิ่มความตื่นตัวให้ร่างกายได้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่จบลงที่ความรู้สึกตื่นกลัวมากกว่าตื่นตัว เหมือนต้องเตรียมพร้อมสู้ตลอดเวลา ที่ไม่รู้ว่าเกิดจากการฟัง Binaural beats หรือ ยกเวทหนักเกินไป