ไม่ใช่เป็นเพียง "แค่ฝันร้าย" เพราะฝันร้ายอาจเป็นสัญญาณแรกสุดของการมีแนวโน้มสมองเสื่อม ซึ่งจะนำไปสู่โรคพาร์กินสันส์ หรือ อัลไซเมอร์ได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า
"ฝันร้ายตั้งแต่เด็กเมื่อถึงวัยโตสมองเสื่อม เพิ่มขึ้น 76% และเมื่อถึงอายุ 50 ปีมีโอกาสเกิดพาร์กินสันส์เพิ่มขึ้นเจ็ดเท่า
ผู้ใหญ่วัยกลางคน จนสูงวัย เช่นกัน ถ้ามีฝันร้ายอาทิตย์ละหนึ่งหนจะมีความเสี่ยงของสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นมาก วิธีปรับอารมณ์ใจ ให้เป็นในด้านบวก ที่ปรึกษาหากลุ่มบำบัด
และหมอว่า ตั้งใจช่วยเหลือคนอื่นเอื้อเฟื้อไม่คิดว่าให้และจะมีอะไรตอบแทน น่าจะจิตใจสบายที่สุด Lancet e clinical medicine มีนาคม 2023"
เดอะการ์เดียนเผยงานวิจัยระบุถึงอาการฝันร้ายบ่อยในวัยกลางคน คือสัญญาณบอกความเสี่ยงของสมองเสื่อม
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ใน eClinicalMedicine ระบุว่าคนวัยกลางคนที่ฝันร้ายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหาสติปัญญาลดลง หรือความรู้ความเข้าใจลดลงในช่วง 10 ปีถึงสี่เท่ามากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยฝันร้าย
ในบรรดาผู้เข้าร่วมสูงวัย ที่รายงานความฝันที่ทำให้รู้สึกน่าวิตกบ่อยครั้งมีโอกาสถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมเป็นสองเท่าในปีต่อๆ มา
ดร.อาบีเดมิ โอไตกุ อาจารย์มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ตรวจสอบคุณภาพการนอนหลับของผู้ทดลอง แล้วติดตามพวกเขาเป็นเวลาหลายปี เพื่อประเมินสุขภาพสมองของพวกเขาตลอดจนผลลัพธ์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่วัยกลางคนมากกว่า 600 คน (อายุ 35 ถึง 64 ปี) และ 2,600 คนที่มีอายุ 79 ปีขึ้นไป
ข้อมูลของพวกเขาได้รับการวิเคราะห์โดยใช้ซอฟต์แวร์ทางสถิติเพื่อค้นหาว่าผู้ที่ฝันร้ายบ่อยครั้งมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะสติปัญญาลดลงและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่
สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้คือเมื่อเราฝันร้าย เรามักจะตกใจตื่น สะดุ้งตื่น นอนหลับไม่สนิท นอนไม่เต็มอิ่ม ทำให้ประสิทธิภาพการหลับลดลง ซึ่งอาจค่อยๆ นำไปสู่การสะสมของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม อีกประการหนึ่งคือการมีอยู่ของปัจจัยทางพันธุกรรมบางอย่างที่สนับสนุนปรากฏการณ์ทั้งสอง
ดร.โอไตกุกล่าวว่า"เรารู้ว่าภาวะความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสันและโรคอัลไซเมอร์ มักแสดงสัญญาณหลายปีก่อนที่จะมีการวินิจฉัยเจอ เช่น ในบางคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือเคยรายงานว่าฝันร้าย ซึ่งฝันร้ายอาจเป็นสัญญาณแรกสุด"
ทั้งนี้เคยมีการตั้งข้อังเกตว่า ฝันร้ายในผู้หญิงช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลงคนค่อนข้างจะเป็นเรื่องปกติ แต่ความเสี่ยงที่จะฝันร้ายของผู้ชายจะเพิ่มขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิต ความเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ ฝันร้ายที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมเป็นเพียงฝันร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงอายุที่มากขึ้น และผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้
วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับภาวะสมองเสื่อมนี้คือเราสามรถหาต้นตอที่ทำให้เราฝันร้ายบ่อยครั้ง อาจจะเป็นการไดเอตที่ผิดวิธี ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ หรือดื่มหนัก "หากเรารู้ว่าอะไรคือสาเหตุ และใครที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีแนวโน้มสมองเสื่อมในไม่ช้า หรือก่อนหน้าได้เร็วเท่าไหร่ เราจะช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ดีขึ้น" ดร.โอไตกุกล่าว