มากกว่าล่วงละเมิดทางคำพูด ส่อง 4 ประเภทการบูลลี่ที่พ่อแม่ควรรู้

มากกว่าล่วงละเมิดทางคำพูด ส่อง 4 ประเภทการบูลลี่ที่พ่อแม่ควรรู้
บูลลี่ ปัญหาในโรงเรียนเกิดขึ้นซ้ำๆ ผู้ปกครองควรรู้วิธีรับมือการรังแกที่พบบ่อยที่สุดในการเสริมพลังเด็กๆ

การบูลลี่ การกลั่นแกล้ง หมายถึงพฤติกรรมทำร้ายจิตใจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในความสัมพันธ์ รูปแบบการบูลลี่มีทั้งทางวาจา ทางร่างกาย ทางความสัมพันธ์ และการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต แม้โรงเรียนจะช่วยผ่านตัวครูที่คอยสอดส่อง หรือการออกกฏเพื่อช่วยเหลือ

แต่ผู้ปกครองยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมภูมิต้านทานให้แก่ลูก เพื่อป้องกันการถูกบูลลี่ และหยุดการกลั่นแกล้ง เว็บไซต์ Parents. เผยเคล็ดลับในการจัดการกับการบูลลี่ที่พบบ่อยทั้ง 4 ประเภท

การกลั่นแกล้งทางคำพูด (Verbal Bullying)
การกลั่นแกล้งทางวาจา หรือการใช้คำพูดที่รุนแรง รวมถึงการต่อว่า ข่มขู่ และการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุภาพเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา ศาสนา เชื้อชาติ ความพิการ หหรือรสนิยมทางเพศ ฯลฯ เด็กที่ถูกบูลลี่ทางคำพูดมักมีอารมณ์แปรปรวน ไม่เข้าสังคม หรือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เด็กอาจเกิดคำถามว่า สิ่งที่คนบูลลี่พูดใส่พวกเขาเป็นเรื่องจริงหรือไม่

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำคือ สอนลูกๆ เกี่ยวกับการเคารพตัวเอง ตอกย้ำว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติที่ดี เช่น การขอบคุณครู ยกย่องเพื่อน มีน้ำใจต่อพนักงานบริการ เน้นการเคารพตนเองและช่วยเด็กๆ ให้ชื่นชมตัวเอง ดร.เชน จิมเมอร์สัน นักจิตวิทยา และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนตาบาร์บารา กล่าวว่า "การป้องกันที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถให้ได้คือ การส่งเสริมความมั่นใจ พูดคุย ลองฝึกวิธีการรับมือที่สร้างสรรค์ ใช้คำพูดที่ชัดเจนแต่ไม่เป็นปฏิปักษ์"

การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying)
การกลั่นแกล้งทางร่างกาย หรือการกลั่นแกล้งด้วยการข่มขู่ทางร่างกายอย่างก้าวร้าว ทำร้ายร่างกาย ทุบตี เตะ สะดุด บล็อก ผลัก และแตะซ้ำๆ หรือการถูกตัวในลักษณะที่ไม่ต้องการและไม่เหมาะสม เด็กที่ถูกการกลั่นแกล้งทางร่างกายมักไม่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ ดังนั้นสัญญาณที่จะสังเกตได้เช่น บาดแผลที่อธิบายไม่ได้ รอยขีดข่วน รอยฟกช้ำ เสื้อผ้าขาดหรือหาย เกิดอาการปวดหัว ปวดท้องบ่อยๆ

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำคือ เริ่มบทสนทนาถามไถ่สิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ระหว่างมื้อกลางวัน ระหว่างทางกลับบ้าน จากคำตอบที่ได้ถามว่ามีใครใจร้ายหรือไม่ ใช้สเยงเรียบนิ่ง สบาายๆคุมอารมณ์เน้นการสนทนาแบบเปิดกว้าง ต่อเนื่อง

การกลั่นแกล้งทางความสัมพันธ์ (Relational Bullying)
การกลั่นแกล้งด้วยกลวิธีกีดกัน เกี่ยวข้องกับการจงใจป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นที่โต๊ะอาหารกลางวัน เกม กีฬา หรือกิจกรรมทางสังคม สังเกตจากการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ปลีกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน อยู่คนเดียวมากกว่าปกติ เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าเด็กผู้ชายที่จะถูกกีดกันทางสังคม แม้จะไม่ใช้คำพูด หรือถูกคุกคามทางอารมณ์ ความเจ็บปวดนั้นอาจรุนแรงพอๆ กับการถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายและคงอยู่นานกว่านั้น

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำคือ พูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันให้เป็นกิจวัตรทุกคืน ช่วยลูกๆ ค้นหาสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ดีของพวกเขา และให้แน่ใจว่าพวกเขารู้ว่ามีคนที่รักและห่วงใยพวกเขา มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถและความสนใจในด้านดนตรี ศิลปะ กรีฑา การอ่าน และกิจกรรมหลังเลิกเรียน เพื่อให้บุตรหลานของคุณสร้างความสัมพันธ์นอกโรงเรียน

การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต (Cyberbullying)
การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ การกลั่นแกล้งใครบางคนโดยการแพร่กระจายคำพูดที่หยาบคาย คำโกหก และข่าวลือที่เป็นเท็จผ่านทางอีเมล ข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ข้อความเหยียดเพศ เหยียดผิว และเหยียดเพศสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร แม้ว่าจะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ลูกของคุณโดยตรงก็ตาม เด็กที่ถูกไซเบอร์บูลลี่จะใช้เวลาออนไลน์มากขึ้น และจะเศร้าและวิตกกังวลในภายหลัง มีปัญหาในการนอนหลับ ขอหยุดเรียนอยู่บ้าน หรือถอนตัวจากกิจกรรมที่เธอเคยรัก

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำคือ สร้างกฏในการใช้อินเตอร์เน็ตในครอบครัว จำกัดเวลาการใช้อินเตอร์เน็ต รู้จักไซต์ แอป และอุปกรณ์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเพื่อดูความเหมาะสม พูดคุยถึงเรื่องที่ไม่เหมาะสมในโลกออนไน์เพื่อบอกพวกเขาว่าหากประสบกับการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต พวกเขาไม่ควรมีส่วนร่วม หรือโต้ตอบ ส่งต่อ แต่ควรแจ้งให้พ่อแม่ทราบเพื่อจะได้ช่วยรายงานไปยังโรงเรียน หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ผู้ปกครองควรดำเนินการกับการบูลลี่อยู่กเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรุนแรงหรือต่อเนื่อง ควรติดต่อครูหรืออาจารย์ใหญ่ก่อนเพื่อติดตามสถานการณ์จนกว่าจะยุติ

TAGS: #บูลลี่ #โรงเรียน #เด็ก