การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว และยังส่งผกระทบกับคนรอบข้าง เช็กลิสต์สังเกตอาการ และเยียวยาก่อนจะสายเกินไป
องค์การอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง มีผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัติพิชัย จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากความถี่ของปัญหามีมากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งระดับความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคม ในขณะที่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตที่ลดลง หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่คนรู้จักหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาแล้ว
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย แบ่งออกเป็น
1. ปัจจัยทางชีวภาพ/การแพทย์
การฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งทางด้านสังคม จิตวิทยา และปัจจัยทางด้านชีวภาพ โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือการเจ็บป่วยทางจิตเวช การศึกษาทางการแพทย์ พบว่า ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 9 ใน 10 มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่งขณะทำการฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุสำคัญคือ ภาวะซึมเศร้าและการติดสุรา
2. ปัจจัยทางจิตใจ สังคม วัฒนธรรม
ปัจจัยทางสังคมที่พบในคนที่ฆ่าตัวตาย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสัมพันธภาพ สังคมที่เน้นบริโภคนิยม ผู้คนต้องดิ้นรน แข่งขัน เกิดความเครียด ส่งผลให้การฆ่าตัวตายในสังคมนั้นเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การสื่อสารที่มีความทันสมัย รวดเร็วไร้พรมแดนในปัจจุบัน อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้ เช่น สังคมออนไลน์ แคมฟรอกซ์ เว็บไชต์เกี่ยวกับวิธีการฆ่าตัวตาย การเผยแพร่ความเชื่อของลัทธิต่างๆ ที่เชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่ายกย่อง
ปัจจัยด้านวัฒนธรรม
เช่น การทำฮาราศีรี (คว้านท้อง) ของพวกซามูไรหรือทหารในประเทศญี่ปุ่น เมื่อแพ้สงครามในประเทศจีนที่ผู้หญิงถูกปฏิบัติด้อยกว่าเพศชาย ทั้งในครอบครัวของตนเองและสามี ผู้หญิงจีนจึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง รวมทั้งประเพณีคลุมถุงชน
ปัจจัยทางจิตใจ
ผู้คิดฆ่าตัวตายมักมองตนเองว่าเป็นคนไร้ค่า ไม่มีความสามารถ มองสังคมรอบตัวว่าขาดความเป็นธรรมและไม่ให้อภัยต่อความผิดพลาดของตน เกิดความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เศร้าใจและทุกข์ระทมใจเป็นอย่างมาก
10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย มักพบลักษณะบางอย่าง ดังนี้
- ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย ตกงาน หรือ สูญเสียคนที่รักกะทันหัน เป็นต้น
- ใช้สุราหรือยาเสพติด
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย
- แยกตัวไม่พูดกับใคร
- นอนไม่หลับเป็นเวลานาน
- พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาหมองเศร้า
- มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เปลี่ยนเป็นสบายใจอย่างผิดหูผิดตา
- ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้พบว่ามีผู้ที่พูดเช่นนี้จำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายจริงๆ
- เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
- มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น พูดฝากฝังคนข้างหลัง แจกจ่ายของรักให้คนอื่น
เมื่อพบสัญญาณเตือน คนรอบข้างควรให้การช่วยเหลือ ดังนี้
- แสดงความเต็มใจช่วยเหลืออย่างจริงใจ การเข้ามาให้ความช่วยเหลือจะช่วยให้ผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายรู้สึกว่ายังมีคนที่เป็นห่วงเขาอยู่
- ยอมรับในปัญหาของผู้ที่คิดฆ่าตัวตายหลีกเลี่ยงการพูดว่า "ไม่เป็นไร" "ไม่เห็นมีอะไร" "เรื่องแค่นี้เอง" เพราะแต่ละคนรับรู้ต่อปัญหาได้ไม่เหมือนกัน
- ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่าปัญหาจะสามารถแก้ไขได้และผ่านไปได้
- ให้คำปรึกษา ปลอบใจ ให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา
- ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมกับผู้อื่นอย่าให้อยู่ตามลำพัง
- ถ้าบุคคลนั้น ไม่ใช่คนในครอบครัวให้บอกญาติให้ดูแลอย่างใกล้ชิด แนะนำช่องทาง ให้คำปรึกษา เช่นสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือช่องทางให้การปรึกษา ให้ความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ หรือติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยง
ข้อมูจาก กรมสุขภาพจิต โดยกระทรวงสาธารณสุข