“ไปรษณีย์ไทย” ผลักดันแสตมป์สู่ Soft Power

“ไปรษณีย์ไทย” ผลักดันแสตมป์สู่ Soft Power
“ไปรษณีย์ไทย” ผลักดันแสตมป์สู่ Soft Power ของไทยเสริมบทบาท 140 ปี “ศิลป์ – ทรัพย์” ของคนไทยด้วยหลากโซลูชัน พร้อมลุยจัดบิ๊กเอ็กซิบิชัน ชวนคนไทยชมที่สุดแห่งงานแสตมป์โลกส่งท้ายปี

140 ปีแสตมป์ไทยกับสองนิทรรศการใหญ่ที่คนไทยต้องไปดู พร้อมสะสมแสตมป์ วาระประวัติศาสตร์ “ชุด 140 ปี ตราไปรษณียากรไทย - ชุดที่ระลึกวันไปรษณีย์โลก 2566 - ชุดที่ระลึก 50 ปี 14 ตุลาคม 2516”

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยแสตมป์ยังคงทวีบทบาทในด้านการเป็น Soft Power ในการเผยแพร่เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาชาวโลก พร้อมเสริมแนวทางการออกแบบและพัฒนาแสตมป์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

โดยเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม และปรับดีไซน์ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ โดยการเกาะติดเทรนด์ต่างๆ ในสังคม รวมถึงการร่วมมือกับ KOLs ในแวดวงต่างๆเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้แสตมป์มีความน่าสนใจ รวมถึงการเชื่อมแสตมป์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ 

โดยในวาระ140 ปี  ของการก่อตั้งกิจการไปรษณีย์ไทย และแสตมป์ไทย โดยไปรษณีย์ไทยได้นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์แสตมป์ไทยดวงแรกของไทย ผ่านนิทรรศการ “16 เรื่องเล่าจากแสตมป์โสฬศ” เสมือนเป็นการเตรียมความพร้อมสู่งานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 อีเวนต์ใหญ่ระดับโลกที่คนไทยจะได้ชมความตระการตาและความยิ่งใหญ่ของแสตมป์ทั่วโลก  ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2566 ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก

นายพสุ อุณหะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตราไปรษณียากรหรือแสตมป์เป็นสิ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตลอด 140 ปี และถือว่ายังได้รับความนิยมในผู้คนหลายกลุ่ม เนื่องจากภาพที่ปรากฎบนแสตมป์เปรียบเสมือนงานศิลป์ที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งในแง่ของราคาและช่องทางการจำหน่าย 

อีกทั้งแสตมป์แต่ละชุดยังจัดทำขึ้นในวาระโอกาสที่แตกต่างกัน รวมถึงจำนวนการพิมพ์ที่จำกัด จึงทำให้มีความพิเศษน่าสะสมมากยิ่งขึ้น “แสตมป์ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้เพื่อแทนค่าฝากส่งในระบบไปรษณีย์หรือการสะสมเท่านั้นแต่ยังทรงคุณค่าและมีมูลค่าในตัวของมันเอง รวมทั้งเป็นสื่อที่สะท้อนมุมมองในด้านงานศิลป์อีกด้วยในอนาคตแสตมป์ยังจะมีบทบาทในการเพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานให้มีลูกเล่นที่หลากหลายมากขึ้น แสตมป์ประเภทกระดาษอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกแทนที่ด้วยแสตมป์ดิจิทัล แต่สิ่งที่ยังคงเป็นแรงดึงดูดในการเลือกใช้ หรือเก็บสะสมยังคงเป็นความโดดเด่นในด้านศิลปะ และการออกแบบ ซึ่งตลาดสำคัญคาดว่าจะอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” 

ข้อมูลอ้างอิงโดย https://www.futuremarketinsights.com/reports/postage-stamp-paper-market

นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไปรษณีย์ไทยยังคงให้ความสำคัญกับแสตมป์ในฐานะ “ศิลป์ – ทรัพย์” ของธุรกิจและคนไทย โดยจะยกระดับแสตมป์ ทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เช่น แสตมป์ NFT ที่ได้จัดทำเป็นครั้งแรกของอาเซียนในปี 2022 สอดรับกับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามาปฏิวัติวงการศิลปะทั่วโลกที่เชื่อมโยงไปสู่การลงทุน ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนแสตมป์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสำหรับกลุ่มเหล่านักสะสม พร้อมผลักดันให้ทุกคนสามารถมีแสตมป์ส่วนตัวด้วยบริการ iStamp ตามกระแสการตลาดรู้ใจ หรือ Personalize Marketing

การดึงนักอออกแบบและผู้ที่มีชื่อเสียงเข้ามารังสรรค์แสตมป์รูปแบบใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นรูปแบบดิจิทัลและแสตมป์ทั่วไป สนับสนุนการสร้างมูลค่าซอฟต์พาวเวอร์สาขาศิลปะ และโอกาสให้กับผู้ที่มีความสามารถ เช่น น้องจินLittle Monster เพจ Gluta Story เป็นต้น 

อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market)  เพื่อให้เกิดดีมานด์จากความหลากหลายของการดีไซน์ที่ตรงใจคนทุกกลุ่ม  การออกแบบแสตมป์ให้สอดรับกับความนิยมและสถานการณ์ เช่น อีสปอร์ต ในวันเด็กแห่งชาติ ที่สะท้อนถึงการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล การจัดพิมพ์แสตมป์ชุดโสฬศ แสตมป์ชุดแรกของไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย ตลอดจนการเชื่อมแสตมป์กับความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การนำอัตลักษณ์ไปผนวกกับสถานที่ต่าง ๆ เช่น งานประติมากรรม เพื่อเพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ดียิ่งขึ้น

ด้าน นายเจนวิทย์ อภิชัยนันท์ อุปนายกฝ่ายกิจกรรม สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากร แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มนักสะสมมองว่าแสตมป์นั้นมีคุณค่าและอรรถประโยชน์มากกว่าเฉพาะการใช้งานเพื่อเป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์เพราะเป็นเสมือนสิ่งพิมพ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบันทึกเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมในแต่ละช่วงเวลา แฝงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ มีความน่าสนใจและดีไซน์ความสวยงามที่แตกต่าง อีกทั้งยังตอบโจทย์กลุ่มนักสะสมรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นด้วย โดยคาดว่าประเภทของแสตมป์ที่จะทวีมูลค่าในอนาคตประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ อายุของแสตมป์ ความต้องการในท้องตลาด ปริมาณการผลิต ข้อมูลเฉพาะของแสตมป์ และความสมบูรณ์ของสภาพดวงแสตมป์

ขณะที่ นางสาวมยุรี นาคนิศร นักออกแบบแสตมป์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ตลอด 20 ปี ที่ได้ร่วมออกแบบแสตมป์ให้กับไปรษณีย์ไทยเป็นอะไรที่สนุกและท้าทายเป็นอย่างมากเพราะนักออกแบบแสตมป์ไม่ใช่เพียงคนวาดรูปหรือถ่ายภาพเพื่อมาทำแสตมป์เท่านั้น แต่นักออกแบบแสตมป์ยังต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านทั้งทางประวัติศาสตร์และทางกายภาพ เพื่อเลือกมุมมองที่น่าสนใจของแต่ละหัวข้อที่ได้รับโจทย์มา จึงจะถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานแสตมป์แต่ละชุดได้ ซึ่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้นักออกแบบต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอทั้งเทคนิคการวาดที่มีการนำเอาอุปกรณ์ดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบ เทคนิคการพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบการนำเสนอที่ทำให้แสตมป์ รวมถึงการทำงานร่วมกับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น เพื่อให้วงการและตลาดแสตมป์ยังคงคึกคักอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับในวาระการเฉลิมฉลอง 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย และ140 ปี แสตมป์ไทย ในเดือนตุลาคมนี้จึงได้จัดชุด "โสฬศ"  นิทรรศการย้อนประวัติศาสตร์ของแสตมป์ไทยดวงแรกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พร้อม16 เรื่อง ที่อยากเล่าให้คนไทยได้ฟัง 

โดยสามารถเข้าชมได้ฟรีพร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ รับของแรร์ไอเทมจากงานครบรอบปีที่ 125 และปีที่ 130 ของไปรษณีย์ไทย เมื่อซื้อสินค้าที่จัดจำหน่ายในนิทรรศการบริการ iStamp คอลเลกชันใหม่ที่จะชวนทุกคนย้อนอดีต 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทยกับภาพเก่าในสไตล์ Pop Culture ตั้งแต่วันนี้ - 29 ตุลาคม 2566

อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ยังได้เตรียมจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก ซึ่งเป็นงานสำคัญที่ประกอบไปด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ “เจ้าฟ้านักสะสม” จำลองพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดแสดงแสตมป์ที่แพงที่สุดในโลก เอเชีย และไทย การประกวดแสตมป์จากนักสะสมทั่วโลก การจำหน่ายแสตมป์และสิ่งสะสมชุดพิเศษที่ได้ร่วมมือกับศิลปินรุ่นใหม่อีกทั้งยังมีการออกร้านคอลเลคชันแสตมป์จากไปรษณีย์ทั่วโลก และเสวนาให้ความรู้ด้านการพัฒนาและสะสมแสตมป์ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2566

@thebetter.th

140 ปีแสตมป์ไทยกับสองนิทรรศการใหญ่ที่คนไทยต้องไปดู พร้อมสะสมแสตมป์ วาระประวัติศาสตร์ “ชุด 140 ปี ตราไปรษณียากรไทย - ชุดที่ระลึกวันไปรษณีย์โลก 2566 - ชุดที่ระลึก 50 ปี 14 ตุลาคม 2516” บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยแสตมป์ยังคงทวีบทบาทในด้านการเป็น Soft Power ในการเผยแพร่เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาชาวโลก พร้อมเสริมแนวทางการออกแบบและพัฒนาแสตมป์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

♬ original sound - The Better

 

 

TAGS: #ไปรษณีย์ #แสตมป์ #ซอฟท์พาวเวอร์ #softpower