สาวๆ ตรวจ HPV เองได้ ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง

สาวๆ ตรวจ HPV เองได้ ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง
ภาพจำมะเร็งปากมดลูกที่การคัดกรองยังเข้าถึงยาก ต้องขึ้นเก้าอี้ขาหยั่งและเขินอายที่ต้องให้แพทย์ที่เป็นผู้ชายตรวจหา เลยทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ

Human Papilloma Virus (HPV) คือไวรัสที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะตรวจพบได้ในเซลล์ทุกระยะของการดำเนินโรค HPV มีกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่มีเพียง 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สายพันธุ์16 และ 18 เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% 

สาวๆ หลายคนคงรู้ถึงอันตรายของมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกที่ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ในส่วนของการตรวจหามะเร็งเต้านมเบื้องต้นนั้นสาวๆ หลายคนรู้ขั้นตอนอย่างดี และสามารถคลำหาได้ไม่ลำบาก

แต่กลับกันกับมะเร็งปากมดลูกที่การคัดกรองยังเข้าถึงยาก เนื่องจากหลายคนยังติดภาพจำต้องขึ้นเก้าอี้ขาหยั่งและเขินอายที่ต้องให้แพทย์ที่เป็นผู้ชายตรวจหา เลยทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ไม่ต้องมาตรวจคัดกรองบ่อยๆ คือการตรวจแบบHPV DNA TEST

เดิมจะมีการตรวจแบบ PAP SMEAR เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาโดยดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่มะเร็ง

โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก เพื่อส่งหปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์ และต้องตรวจทุกปี การตรวจแบบ PAP SMEAR จึงไม่ใช่การตรวจหาเชื่อ HPV และจะมีความไวในการตรวจเจอโรคอยุ่ที่ 53%

แต่การตรวจแบบ HPV DNA Test ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจถึงระดับ DNA เพื่อหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อระบุหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งหรือภาวะก่อนมะเร็งในสตรี โดยจะมีการเก็บตัวอย่างแบบเดียวกันกับการตรวจแบบ PAP SMEAR แต่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการเพื่อระบุหาเชื้อHPV จาก DNA ของเชื้อโดยตรงสามารถเว้นระยะการตรวจ ได้ถึง 5 ปี

หากผลตรวจไม่พบเชื้อ จึงถือเป็นการตรวจหาเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูง เพื่อระบุถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกและมีความไวในการตรวจเจอโรคถึง 92%

ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการ “การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เป็นวิธีที่สะดวกต่อ ผู้รับบริการโดยเฉพาะสตรีที่ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมาก่อน และเพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บสิ่งส่งตรวจ

การเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกในช่องคลอดด้วยตัวเองนั้นง่ายเหมือนการตรวจ ATK แบบสวอบ

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนการเก็บตัวอย่างทุกครั้ง
  2. ฉีกซองไม้เก็บตัวอย่าง จับส่วนขีดสีดำ อย่าสัมผัสโดนส่วนของสำลีที่ปลายไม้เก็บตัวอย่าง และห้ามนำไปจุ่มในขวดน้ำยาก่อนเก็บตัวอย่าง
  3. ยืน หรือ นั่งในท่าที่สบาย ใช้ไม้เก็บตัวอย่างสอดเข้าไปในช่องคลอด ลึกประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตรหมุนไม้เก็บตัวอย่างโดยให้สำลีสัมผัสกับผนังช่องคลอด 10-30 วินาที แล้วดึงออก
  4. เปิดฝาหลอดเก็บตัวอย่าง และยังคงถือไม้เก็บตัวอย่างไว้ ห้ามวางลงเนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อน ระวังอย่าให้น้ำยาในหลอดหก
  5. จุ่มไม้เก็บตัวอย่างลงในหลอดน้ำยาเก็บตัวอย่าง แล้วหักส่วนเกินของไม้เก็บตัวอย่างทิ้ง
  6. ปิดฝา เขียนชื่อ-นามสกุลข้างตัวอย่าง


แนะนำให้ตรวจซ้ำทุกๆ 5 ปี

  • เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี
  • สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ เมื่ออายุ 65-70 ปี โดยที่ผลการตรวจคัดกรองปกติ 3 ครั้งใน 10 ปี ก่อนหยุดตรวจ
  • ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอามดลูกออกแล้ว ร่วมกับมีผลการตรวจก่อนหน้าปกติ
  • ผู้หญิงที่เคยตรวจพบความผิดปกติแล้ว ควรตรวจสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่ได้รับ HPV vaccine แล้วยังคงต้องตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้รับ vaccine
  • การตรวจภายในนั้น ควรตรวจทุก 1 ปี ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น อาจตรวจได้ทุก 5 ปี

ข้อจำกัดและข้อควรระวัง

1. ต้องไม่มีการตรวจภายในมาก่อน (ในช่วง 24 ชั่วโมง) เพราะอาจมีสารหรือยาปนเปื้อนอยู่

2. ต้องไม่มีการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด ครีมหรือยาที่ใช้ทางช่องคลอดอื่นๆ อย่างน้อย 48 ชั่วโมง

3. ห้ามล้างหรือทำความสะอาดในช่องคลอดภายใน 48 ชั่วโมงก่อนมาตรวจเพราะอาจไม่มีเซลล์เหลือให้ตรวจ

4. งดการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนมารับการตรวจ 48 ชั่วโมง

5. ไม่ควรตรวจหากกำลังมีประจำเดือน

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยกล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 ดังนั้น การดำเนินการตามสองมาตรการที่สำคัญนั้นคือ

(1) การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้เกิน 70% ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (primary HPV screening) ซึ่งการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) สามารถที่จะเติมเต็มและขยายวงการตรวจการคัดกรองให้กว้างขึ้นได้

(2) การฉีดวัคซีน HPV ให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้หญิงวัย 11-12 ปี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาได้ชี้แล้วว่าการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงในวัยเกิน 12 ปี ตั้งแต่ 13-26 ปี ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่สำคัญได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีประโยชน์และมีความคุ้มค่ามาก ในอันดับต่อไปอาจจะพิจารณาฉีดในเด็กผู้ชายด้วย

TAGS: #มะเร็ง #มะเร็งปากมดลูก #ตรวจคัดกรอง #hpv