รพ.บ้านตาขุนเปิดคลินิก Smart NCD รักษาผู้ป่วยเบาหวานให้หยุดยาใน 3ปีได้กว่า 300 ราย

รพ.บ้านตาขุนเปิดคลินิก Smart NCD รักษาผู้ป่วยเบาหวานให้หยุดยาใน 3ปีได้กว่า 300 ราย
ใครว่าเป็นเบาหวานต้องพึ่งยาไปตลอดชีวิต รพ.บ้านตาขุนคลินิก Smart NCD สามารถรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้หยุดยาใน 3 ปี ทำได้กว่า 300 ราย

โรคเบาหวานนับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพระดับโลก นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 6.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แสนคน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1.5 แสนคน 

การคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป มีผู้ได้รับการคัดกรองเพียง 14 ล้านคน ยังไม่ได้รับการคัดกรองมากถึง 8 ล้านคน นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ในปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั่วโลกกว่า 6.7 ล้านราย

เริ่มโครงการ iPDM

ในปี 2562 บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโรงพยาบาลบ้านตาขุน ในโครงการ “ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่าน Personalized Diabetes’s Management หรือ iPDM ระบบการจัดการภาวะเบาหวานแบบบูรณาการเฉพาะบุคคล” ซึ่งโครงการนำร่องนี้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ 

ในปี 2563 โรงพยาบาลบ้านตาขุนได้ก่อตั้งคลินิก Smart NCD โดยใช้มาตรการที่ผสมผสานการศึกษา การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และการใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 ได้มีการขยายผลไปอีก 5 โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยรพ.บ้านนาสารรพ.บ้านนาเดิม รพ.กาญจนดิษฐ์ รพ.ชัยบุรี และรพ.เกาะพะงัน ปัจจับันได้มีการเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อขยายไปให้ทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

  • เข้ารับบริการคลินิก Smart NCD แล้ว 3,170 ราย
  • ลดยาได้กว่า 1,450 ราย
  • หยุดยาได้กว่า 370 ราย
  • สามารถลดมูลค่าการใช้ยาได้กว่า 799,000 บาท

visible in invisible เห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น

นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การสร้างระบบสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาโรคเรื้อรังรวมไปถึงการตอบสนองความต้องการผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือความท้าทายที่แท้จริงของยุคสมัย คือความมุ่งมั่น คือเป้าหมายที่สำคัญของบุคลากรสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ความท้าทายในการสร้างคลินิก Smart NCD คือการปรับทัศนคติ การคิดนอกกรอบ ชวนบุคลากรให้มองมุมกลับ การวัดผลจากการดูค่าน้ำตาล ไม่ได้ช่วยให้รักษาผู้ป่วยเบาหวานหายขาด แต่การดูพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนแบบรายบุคคลจะช่วยให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาได้

การใช้ Soft Power to Sustainable Health Care System คือการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในเรื่องสุขภาพอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การปรับพฤติกรรม เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆที่เราสามารถทำได้ และเห็นผลออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน

ชุมชนต้องมีส่วนร่วม สังคมต้องรับรู้

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ชี้แจงว่า นอกจากพันธกิจในการสนับสนุนเชิงวิชาการที่ถูกต้องให้กับบุคลากรและประชาชนแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะแสวงหาพันธมิตรจากทุกภาคส่วนเพื่อผนึกกำลังกันในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง เพราะทางสมาคมเชื่อว่าวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ความร่วมมือ

เนื่องจากการจ่ายยา ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาต้นเหตุที่แท้จริงของโรคเบาหวาน อีกทั้งอุบัติการเบาหวานเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่การรักษาที่สำเร็จกลับไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเป็นการกลับหัว มองที่ผลลัพธ์ เอาคนไข้เป็นหลัก บูรณาการให้มี personalized อยู่

อีกทั้งบทบาทของสมาคมตอนนี้มีการวางแผนงาน 2 เรื่องคือ การจัดทำหลักสูตรคลินิก Smart NCD เพื่อให้ได้นำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลาย แต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรม การใช้ชีวิต อาหารการกินที่แตกต่างกัน จึงต้องมีหลักสูตรที่คอยแนะแนวทาง 

เรื่องที่สองคือ ทางสมาคมได้ร่วมกับสมาคมนักกำหนดอาหาร จัดโครงการเกี่ยวกับเมนูไดเอตในแต่ละจังหวัดเพราะพื้นที่ต่างๆ มีวัตถุดิบของดีที่สามารถนำมาปรับใช้กับเมนูอาหารท้องถิ่น ทั้งยังไม่ทำให้เสียรสชาติ และต้องเป็นที่ยอมรับของชุมชน

Empathic Skill คือหัวใจสำคัญ

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการรักษาโรคเบาหวานหรือความดันให้เข้าสู่ภาวะสงบอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่ยา แต่คือทักษะในการรับฟะงและเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน  ทักษะในการให้กำลังใจและการให้ความรู้เพื่อ“เหนี่ยวนำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” 

รวมทั้งการใช้ Soft Skill ทั้งที่เป็นการใช้ Communication Skill ในการสื่อสาร ไม่ใช่แค่การออกคำสั่ง แต่เป็นการสื่อสารด้วยรูปภาพเป็นต้น และอีกสกิลที่สำคัญคือ Empathic Skill ใช้ในการรักษา ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของหน่วยปฐมภูมิ หรือหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว

นอกจากความสำเร็จทางการรักษาแล้ว ทางโรชซึ่งถือเป็นบริษัทที่ให้บริการโครงการนี้ได้เผยความประทับใจกับความสำเร็จครั้งนี้ คุณมิไฮ อีริเมสซู Cluster Head Asia Emerging Marketing กล่าวว่า การจับมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้ารสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแล และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจรักษา

ตัวเลขที่ทางโรงพยาบาลบ้านตาขุนทำได้ภายในปีแรกของการรักษาเป็นตัวเลขที่พบว่าเกินคาดหมาย ทำให้เราประทับใจ เพราะไม่คาดคิดว่าโปรเจคนี้จะสำเร็จในตอนแรก แต่เราก็อยากลองใช้กับโรงพยาบาลชุมชนและที่เป็นไฮไลต์ที่แท้จริงของงานนี้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ประเภท 2

เนื่องจากไลฟ์สไตล์เดิมที่เป็นต้นเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน การให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นงานท้าทายไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่ยังเป็นเรื่องอาหาร ไลฟ์สไตล์ที่ต้องปรับไปทีละเล็กละน้อย อย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดใช้ยาได้ในไม่กี่เดือน บางรายต้องพึ่งยามาเป็นปีๆ กลับลดได้

แน่นอนว่าโรชเคยให้ทางโรงพยาบาลใหญ่ในกทม.ทดลองใช้ ต้องบอกก่อนว่าไลฟ์สไตล์ของคนเมืองและชนบทที่แตกต่างกัน รวมทั้งเมื่อเป็นโรงพยาบาลใหญ่เคสที่เข้ามาอาจจะเป็นเคสที่ยากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นเหมือนกัน นั้นก็คือการใช้แนวทางร่วมกันและเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางผ่านการจัดการของ iPDM ทำให้ผู้ป่วยหายอย่างยั่งยืน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว

TAGS: #เบาหวาน #NCD #โรคไม่ติดต่อ #บ้านตาขุน