‘มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล’ บทบาทใหม่ของ ‘ธรรมศาสตร์’

‘มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล’ บทบาทใหม่ของ ‘ธรรมศาสตร์’
การดูแลสุขภาพกลายมาเป็นเทรนด์แห่งยุคสมัย โดยเฉพาะหลังจากที่โควิด-19 ผ่านจุดพีคของการแพร่ระบาด พบว่าคนไทยมีความตื่นตัวและรอบรู้ด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น

KSME Analysis ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพสถานการณ์เมื่อปี 2563 พบว่ากระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพได้รับความสนใจอยากมากในประเทศไทย ยืนยันได้จากจำนวนคนออกกำลังกายซึ่งมีมากกว่า 12.9 ล้านคน ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ประเทศไทยเตรียมที่จะขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งเป็นมติจากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 อีกด้วย

หัวใจของการดูแลสุขภาพคือ “สร้างนำซ่อม” การลงทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อไม่ให้คนเจ็บป่วยย่อมคุ้มค่ากว่าการตามไปรักษาพยาบาลทีหลัง ฉะนั้นการมีพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน

ด้วยความสำคัญของพื้นที่ออกกำลังกายและการเล่นกีฬา นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ขนาด 300 ไร่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การดูแลของ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้าง Sport Community พื้นที่กลางสำหรับการดูแลสุขภาพและการกีฬา ที่ครบวงจรที่หนึ่งของประเทศไทย

“สิ่งแรกที่มองคือความแข็งแรงของสุขภาพกาย ซึ่งสัมพันธ์กับความแข็งแรงของสุขภาพจิต กีฬาทุกประเภทสอนในเรื่องความอดทน ระเบียบวินัย การฝึกฝน เพราะไม่มีใครเล่นกีฬาแล้วเก่งในวันเดียว ความสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจ ซึ่งก็เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้วย” ณัฐพงศ์ จงอักษร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกีฬา สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ระบุ

ไอเดียของ “มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล” และการเป็น “บ้านหลังที่สองของนักศึกษาที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ” จึงเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาสถานที่เล่นกีฬาและพื้นที่สันทนาการในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยใช้ “ฐานทุนเดิม” ของการที่ มธ. ศูนย์รังสิต มีสนามแข่งกีฬามาตรฐานระดับโลกและเคยใช้แข่งกีฬาในระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13, เฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 

โดยเฉพาะสเตเดี้ยมหลัก ความจุถึง 20,000 ที่นั่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสนามกีฬากลางแจ้งมาตรฐานสากลขนาดใหญ่ ที่บรรจุลู่วิ่งยางสังเคราะห์ จำนวน 9 ลู่วิ่ง สำหรับเล่นและแข่งฟุตบอล กรีฑา และกีฬากลางแจ้งอื่นๆ 

“สนามกีฬาใน ม.ธรรมศาสตร์รังสิต มีต้นทุนเดิมมาจากเอเชียนเกมส์ ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย เราจึงสนามแข่งขันเกือบครบทุกประเภทกีฬา ทั้งฟุตบอล บาส กรีฑา ยิงปืน ยิงธนู ฯลฯ มีสนามกีฬาในร่ม คอร์ทแบดมินตัน 20 คอร์ท สระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก ซึ่งทุกวันนี้เรารักษาสภาพ ปรับปรุง และมีการใช้งานตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เช่น มีการปรับทางเข้า-ออก ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ มีกิจกรรมพิเศษที่ส่งเสริมให้การเล่นกีฬา ทั้งในการแข่งขัน การเวิร์คชอป การสอนทักษะ การสอนกีฬาแก่นักศึกษาและคนทั่วไป ซึ่งต้องการให้ผู้ใช้เห็นว่าสนามกีฬาเคลื่อนไหว Active ตลอดเวลาในทุกมิติ” ณัฐพงศ์ อธิบาย 

จากการเก็บสถิติของสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ปี 2564-2565 พบว่า ทุกวันนี้สนามกีฬาของมหาวิทยาลัย มีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 2 แสนคนต่อปี โดย 75% เป็นนักศึกษาและบุคลากร ส่วนอีก 25% เป็นบุคคลทั่วไป 

“เราไม่ได้มุ่งเน้นแค่การฝึกทักษะเพื่อความเป็นเลิศทางด้านกีฬาเท่านั้น เราไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการแข่งขัน การเอาชนะ หรือเพื่อความเป็นหนึ่ง หากแต่ธรรมศาสตร์ยังเปิดรับบุคคลทั่วไปที่อยากออกกำลังกาย อยากเล่นกีฬา อยากมีสุขภาพที่ดี หรือถ้าเยาวชนหรือผู้สนใจอยากศึกษาการเล่นกีฬาอย่างถูกหลักให้เข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้ด้วย” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกีฬาฯ กล่าว

 นั่นนำมาสู่การเปิดคอร์สสอน เช่น กีฬาประเภทบุคคลอย่างว่ายน้ำ เทนนิส เทควันโด กีฬาสควอท ยิงธนู ยิงปืน ฯลฯ ซึ่งเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้-เพิ่มเติมทักษะ และใช้บริการได้ด้วย 

ด้วยจุดมุ่งหมายคือ “สุขภาพของคนทั้งมวล” สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. จึงให้น้ำหนักความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพยังปรับไปตามความต้องการของผู้ใช้ และเป็นไปตามเทรนด์ความนิยม 

อาทิ การมีเส้นทางจักรยานรอบมหาวิทยาลัยความยาวรวม 15 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อไปยังหอพัก สนามกีฬา โรงพยาบาล ร้านค้าต่างๆ สอดคล้องกับบริบทของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลังงาน ความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก

การมี “เอ็กสตรีมพลาซ่า” ซึ่งเป็นสนามกีฬาสตรีมที่ใหญ่ที่สุดตามมาตรฐานสากล เป็นลานกลางแจ้งสำหรับกีฬาผาดโผน ไม่ว่าจะเป็นสเก็ตบอร์ด โรลเลอร์เบลด BMX การมีหน้าผาจำลองความสูง 15 เมตร ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจกีฬาผาดโผน 

การมีสนามสตรีทบาสเกตบอล ซึ่งประยุกต์จากบาสเกตบอลปกติ แต่ใช้ผู้เล่นจำนวนน้อยกว่า ซึ่งเข้ากับพฤติกรรมและวัฒนธรรมสมัยใหม่ ตลอดจนฟิตเนสออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง ควบคู่ไปกับบริการห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ

ทั้งหมดนี้นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่บุคคลทั่วไปมีค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับสถานภายนอก

“มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล” และการก้าวไปสู่ชุมชนแห่งการเล่นกีฬาหรือ Sport Community ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่เติบโตอย่างมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นบริการทางสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม

TAGS: #ธรรมศาสตร์ #สุขภาพ