ครม. เห็นชอบการแก้ไขปัญหาหนี้สิน "เกษตรกร" สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง กรอบวงเงินรวม 15,481 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ ( 14 มีนาคม 2566) เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ 50,621 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท กรณีเกษตรกรมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ และได้ขอให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ เพื่อชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ตามสัญญา
ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวที่รัฐจะต้องรับภาระในการจัดสรรชดเชยให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ เงินต้นครึ่งหลัง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยของเงินต้นเดิม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 – 2580 ให้กับธนาคารที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จำแนกตามข้อมูลของแต่ละธนาคารได้ ดังนี้
ธ.ก.ส. จำนวนลูกหนี้ 47,973 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,340.176 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,718.949 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 14,059,125 ล้านบาท
ธ.ออมสิน จำนวนลูกหนี้ 552 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 81.184 ล้านบาท ดอกเบี้ย 173.385 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 254.569 ล้านบาท
ธอส. จำนวนลูกหนี้ 2,008 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 153.207 ล้านบาท ดอกเบี้ย 478.649 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 631.856 ล้านบาท
ธพว. จำนวนลูกหนี้ 88 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 146.861 ล้านบาท ดอกเบี้ย 389.246 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 536.107 ล้านบาท
รวมจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 50,621 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,721.428 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7,760.229 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 15,481.657 ล้านบาท
กรณีการขอเงินชดเชยให้กับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารทั้ง 4 แห่ง หารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ได้ขอยุติและนำเสนอขออนุมัติงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เป็นหนี้เกินกว่าจำนวนมูลหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ ที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไว้กับธนาคารเจ้าหนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้ถึงความสำคัญในการกำกับดูในการดำเนินโครงการ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการดูแล เพื่อสร้างวินัยด้านการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาหนีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต