‘ดีอี’ เตือนภัยประชาชน ชำแหละกลลวงมิจฉาชีพ หลอกติดตั้งโปรแกรมดูดเงิน ชวนลงทุน โทรข่มขู่ซ้ำ สร้างความเสียหายรวม 14 ล้านบาท

‘ดีอี’ เตือนภัยประชาชน ชำแหละกลลวงมิจฉาชีพ หลอกติดตั้งโปรแกรมดูดเงิน ชวนลงทุน โทรข่มขู่ซ้ำ สร้างความเสียหายรวม 14 ล้านบาท
ดีอี  เตือนภัยประชาชน เร่ง ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หลังประชาชนเสียหายรวม 14 ล้านบาท  จึงขอความร่วมมือหากพบมิจฉาชีพช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม  

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 22 - 26 เมษายน 2567 ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพจำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 10,000,000 บาท  โดยรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาลงทุนเทรดทองผ่านช่องทาง Facebook “ฮั่วเซ่งเฮง” อ้างผลตอบแทนสูง จึงเกิดความสนใจทักไปสอบถามพูดคุยและได้เพิ่มเพื่อนช่องทาง Line มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกและเปิดพอร์ตจากนั้นดึงเข้ากลุ่ม Line โบรกเกอร์ ในระยะแรกผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนจริง ระยะหลังเริ่มให้ลงทุนมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนและไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงติดต่อไปยัง บริษัท ฮั่วเซ่งเฮ่ง โดยตรง เลยทราบว่าเพจดังกล่าวเป็นเพจปลอม ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก 

คดีที่ 2 : ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 41,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของ ธนาคารกรุงไทย แจ้งว่าบัตรเครดิตของผู้เสียหายถูกทำธุรกรรมกดเงินสดออกไปใช้จำนวน 15,000 บาท หลังจากนั้นได้โอนสายไปยังมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.จังหวัด นครสวรรค์ แจ้งว่าจากการตรวจสอบเงินบัญชีของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะโอนเงินกลับคืนให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก 

คดีที่ 3 คล้ายกับคดีก่อนหน้า มูลค่าความเสียหาย 2,000,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการเงิน ทหารบก แจ้งว่าผู้เสียหายตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีการฟอกเงิน โดยให้ยืนยันข้อมูลตัวตนและ แจ้งข้อมูลเงินในบัญชีทั้งหมด จำนวน 6,000,000 บาท ให้ผู้เสียหายโอนเงิน จำนวน 2,000,000 บาท อ้างว่าเป็นค่าตรวจสอบบัญชีการฟอกเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก 

คดีที่ 4 : หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ  ผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line อ้างว่ามีธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับอุปกรณ์ IT พูดคุยกันจนสนิทใจเพราะมีทัศนคติตรงกันในเรื่องการให้คำปรึกษา การชอบทำบุญโรงทาน และบริจาคสาธารณกุศลสถานที่ต่าง ๆ ต่อมาภายหลังชักชวนให้ร่วมทำบุญผ่านรูปแบบ การเล่นเกม อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูงและนำผลตอบแทนไปทำบุญร่วมกัน โดยให้โอนเงิน เข้าไปในระบบตามคำแนะนำของมิจฉาชีพ ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ระยะหลังเริ่ม ให้โอนเงินเข้าไปในระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้เสียหายรู้สึกเกิดความลำบากในการหาเงิน รวมมูลค่าความเสียหาย 2,400,000 บาท 
.
และคดีที่ 5 ผู้เสียหายได้รับข้อความทางโทรศัพท์SMS จากมิจฉาชีพ จำนวน 3 ข้อความ แจ้งว่า “ติดตามสถานะการจัดส่งสินค้า Flash Express” พร้อมส่งลิงก์มาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ กดลิงก์ไปแล้วขึ้นเพิ่มเพื่อนทาง Line ของมิจฉาชีพ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทแจ้งว่า จะคืนเงินชดเชยที่ไม่ได้รับสินค้า โดยส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน Flash Express และใช้ แอปพลิเคชันธนาคารร่วมกัน ผู้เสียหายได้ติดตั้งและทำตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ภายหลังผู้เสียหายเช็คเงินในบัญชีของตนเอง พบว่าถูกโอนออกไป จำนวน 182,538 บาท ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

“ผู้เสียหายทั้ง 5 เคส เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก จึงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ AOC 1441 โดยมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 เคส รวม 14,623,538 บาท” โฆษกกระทรวงดีอีกล่าว 

นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนถึง วันที่ 26 เมษายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 583,004 สาย /เฉลี่ยต่อวัน 3,275 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 127,724 บัญชี/ เฉลี่ยต่อวัน 939 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท 1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 39,018 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 30.55 2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 27,436 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 21.48 3) หลอกลวงลงทุน 23,248 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 18.20 4) หลอกลวงให้กู้เงิน 10,556 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 8.26 5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 8,260 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 6.47 และคดีอื่นๆ 19,206 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 15.04
และ 4. ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย. 66 - 14 เม.ย. 67) ข้อมูลของทั้งประเทศจาก ตร. (บช.สอท) 1) ยอดขออายัด 8,447,194,202 บาท 2) ยอดอายัดได้ 4,055,804,202 บาท 3) อายัดได้ร้อยละ 48.01

“อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยทำให้เกิดเป็นผลงานเด่นชัดภายใน 30 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากอาชญากกรรมออนไลน์ของประชาชน จึงขอความร่วมมือจากประชาชนหากพบพฤติกรรมที่น่าสงสัยของมิจฉาชีพช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม  หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

TAGS: #ดีอี #ประชาชน #มิจชาชีพ