ปภ.แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 11 มิ.ย. 67
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 11 มิ.ย. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผย กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2567 แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้มีฝนตกหนักและฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 11 มิถุนายน 2567 แยกเป็น
ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย อำภเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง) เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า) ลำปาง (อำเภอเกาะคา อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว) พะเยา (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงคำ) น่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา) ตาก (อำเภอเมืองตาก อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง) และเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เลย (อำเภอนาแห้ว อำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอปากชม) หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอโพนพิสัย) บึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง) อุดรธานี (อำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม) ชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเทพสถิต) และขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น)
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค อำเภอด่านมะขามเตี้ย) ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา) เพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ) ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี) ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา) ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอปลวกแดง อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอแกลง) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอเกาะช้าง)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 23 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกหนักมากที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป