ไทย-สิงคโปร์ จับมือ เสริมแกร่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

ไทย-สิงคโปร์ จับมือ เสริมแกร่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ
สธ.ไทย-สิงคโปร์ จับมือดัน 3 กลยุทธ์พัฒนางานสุขภาพดิจิทัล เสริมแกร่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลหารือทวิภาคี “ไทย-สิงคโปร์” ในเวทีสมัชชาอนามัยโลก เห็นร่วม 3 กลยุทธ์พัฒนางานสุขภาพดิจิทัล มุ่งพัฒนากฎหมายรองรับ มีคลังข้อมูลกลางที่ได้มาตรฐาน และลงทุนความปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา และข้อจำกัด หวังช่วยปิดช่องโหว่ขับเคลื่อนงานสุขภาพดิจิทัลไทย เสริมความเข้มแข็ง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ 

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยคณะผู้แทนประเทศไทย ประกอบด้วย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และ ภญ.สิตานันท์ พูนผลทรัพย์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ประชุมหารือร่วมกับ นางจัสมิน ลู (Ms. Jasmin Lau) รองเลขาธิการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จุดแข็ง และข้อจำกัดการพัฒนางานสุขภาพดิจิทัลและเทคโนโลยีสาธารณสุข โดยพบว่า สิงคโปร์มีการขับเคลื่อนงานดังกล่าวมากว่า 10 ปี มีจุดแข็งในการวางโครงสร้างประเทศอย่างเป็นระบบ รัฐมีการลงทุนงบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อรองรับและสนับสนุนการบริการ จนเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพ
 
“กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว รวบรวมข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการรัฐและเอกชนสู่ส่วนกลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์และรับบริการสุขภาพดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบปัญหาและข้อจำกัดบางส่วน อาทิ ความหลากหลายของหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ทำให้การเชื่อมโยงและประสานงานทำได้ไม่ง่ายนัก, ความกังวลด้านข้อมูลรั่วไหลของประชาชน และการโจมตีทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้นในยุคปัจจุบัน” นพ.พงศธรกล่าว

นพ.พงศธรกล่าวต่อว่า ประสบการณ์ของสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่ไทยสามารถเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนงานสุขภาพดิจิทัลได้ เพราะข้อจำกัดและปัญหาที่พบไม่แตกต่างกัน โดยไทยมีการขับเคลื่อนงานสุขภาพดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ต่อเนื่องมาถึงนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดและรูปแบบพัฒนาบริการในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไทยมีจุดแข็งในการพัฒนาระบบให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วภายใต้งบประมาณที่จำกัด ด้วยกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และพยายามยกระดับส่วนภูมิภาคให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชนทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ครบทั้ง 902 แห่ง และมีการพัฒนาบุคลากรทุกจังหวัดเป็นผู้บริหารความปลอดภัยสารสนเทศ (Chief Information Security Officer : CISO) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

นพ.พงศธรกล่าวอีกว่า จากการหารือทั้งสองประเทศเห็นชอบร่วมกันถึงกลยุทธ์สำคัญในการลดข้อจำกัดและขับเคลื่อนระบบงานสุขภาพดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 
1) กฎหมายกำกับติดตามและขับเคลื่อนงานสุขภาพดิจิทัลของประเทศ ซึ่งไทยได้วางแผนจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพดิจิทัล 
2) การออกแบบระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล โดยมีคลังข้อมูลที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นแหล่งเก็บข้อมูลส่วนกลาง และให้สิทธิแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลในการเลือกไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเองได้ 
3) การเพิ่มการลงทุนของประเทศในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากร โดยไทยและสิงคโปร์ได้วางแผนสร้างความร่วมมือและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลในเวทีระดับสากลร่วมกันในอนาคต 

TAGS: #ไทย #สิงคโปร์