ซูเปอร์โพล เผย LGBTQ ส่วนใหญ่พอใจ รัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญ ยังไม่เข้าใจกฎหมายสมรสเท่าเทียม แนะเพิ่มการรับรองสิทธิในการเลือกผู้รับผลประโยชน์สมบัติ เลือกคำนำหน้าได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงของ LGBTQiA+ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม LGBTQiA+ ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,045 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 - 30 มิถุนายน 2567
เมื่อถามว่า วันนี้กลุ่ม LGBTQiA+ รู้และเข้าใจมากน้อยเพียงไร ต่อกฎหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศ เช่น สมรสเท่าเทียม สิทธิการใช้ คำนำหน้า สิทธิการสืบทอดสมบัติ สิทธิผู้รับผลประโยชน์ ของกลุ่มLGBTQiA+ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ยังรู้และเข้าใจค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย ในขณะที่ร้อยละ 38.4 รู้และเข้าใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามว่า วันนี้รู้สึกพอใจต่อรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญของกลุ่ม LGBTQiA+ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 พึงพอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 33.3 พึ่งพอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย
ผลสำรวจยังพบด้วยว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.2 ระบุว่าเท่าที่ทราบของกลุ่ม LGBTQiA คือ การแก้ไขกฎหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าอดีตค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 11.8 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้มีการเพิ่มการรับรองสิทธิในการเลือกผู้รับผลประโยชน์สมบัติสืบทอดให้คู่ชีวิตเสมือนกับคู่สมรส ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุค่อนข้างน้อยน้อยถึงไม่เลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้มีคำนำหน้าคำว่า นาย และ นางสาว ให้กับกลุ่มLGBTQiA+ ได้ใช้ตามต้องการ ในขณะที่ร้อยละ 18.2 ต้องการค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย
เมื่อสอบถามความต้องการของกลุ่ม LGBTQiA+ ถึงความต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมสิทธิ์ให้กับกลุ่ม LGBTQiA อีกพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 ยังต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 15.9 ต้องการค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย