ดีอี จับมือ ทรู โชว์ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ 5 ภาษา 

ดีอี จับมือ ทรู โชว์ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ 5 ภาษา 
ดีอี จับมือ ทรู โชว์ทดสอบ "LIVE - Cell Broadcast Service" แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ผู้ใช้งานในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริง เปิดบริการต้นปี 2568 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดการทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริง ครั้งแรกในประเทศไทยกับ "LIVE - Cell Broadcast Service" โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าร่วมงาน

นายประเสริฐ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษการพัฒนา “Cell Broadcast” ว่า ระบบ Cell Broadcast เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณะภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

ทั้งนี้กระทรวง ดีอี เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ จากในอดีตที่การแจ้งเตือนภัยส่วนใหญ่จะใช้วิธีส่งข้อความ SMS ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและกังวลว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ 

ดังนั้นกระทรวง ดีอี จึงได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Infrastructure) ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ใช้เตือนภัยเฉพาะพื้นที่ โดยผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ได้รับทราบ โดยข้อความจะปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมือถือทันที ซึ่งสามารถตั้งระดับความรุนแรงของภัยได้ตามความเร่งด่วน และความจำเป็น ถึง 5 ระดับ อาทิ การเตือนระดับ PM 2.5 ที่เป็นอันตรายเฉพาะพื้นที่ ไปจนถึงเหตุการณ์ใหญ่ระดับภูมิภาคอย่างพายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม หรือ การวางระเบิด ซึ่งสามารถปรับเสียง และการแจ้งเตือนได้ตามความเหมาะสม  

โดยระบบนี้สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เช่น คนไทย จีน หรือ ชาวต่างชาติ โดยสามารถแสดงผลในภาษาที่ผู้ใช้งานเข้าใจได้ถึง 5 ภาษา ภายในครั้งเดียว

อย่างไรก็ตามแม้ระบบ Cell Broadcast จะมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก แต่เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการเรื่องอุปกรณ์และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

TAGS: #ระบบเตือนภัย #ดีอี #ทรู