"กมธ.คมนาคม" รุมซักเดือด  "ขนส่ง"  พบถังก๊าซต่อเติมท่อรั่ว ต้นตอไฟไหม้รถบัส

“อธิบดีกรมขนส่งฯ” ขนคณะ แจง “กมธ.คมนาคม” พบถังก๊าซต่อเติมท่อรั่ว ต้นตอไฟไหม้รถบัส ผลสอบสวนยางไม่แตกแต่เพลาหักครูดถนน  ยอมรับมีอีกคันติดตั้งเกินแบบเดียวกัน ยันหากสอบสวนเจอตัวการ เอาผิดแน่ตามกฎหมาย 

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเกี่ยวกับกรณีรถบัสนักเรียนจังหวัดอุทัยธานีไฟไหม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทรกเข้ามาเร่งด่วน โดยได้เชิญนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะมาชี้แจงถึงสาเหตุรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต โดยนายครูมานิตย์ กล่าวเปิดประชุมว่า เรามีความจำเป็นต้องยกเลิกวาระประชุมอื่น และนำเรื่องนี้เข้าเป็นเรื่องด่วน เพราะ 20 กว่าศพนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จากนั้น นายจิรุตม์ กล่าวแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย พร้อมไล่เรียงเหตุการณ์ข้อเท็จจริง ว่า วันเกิดเหตุตนได้ลงพื้นที่ไปหลังจากเพลิงสงบแล้ว และได้นำวิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบตัวรถตั้งแต่เวลา 17.00 น.

โดยนายชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักวิศวกรรมยานยนต์ ระบุว่า จากการตรวจสภาพรถพบว่า ประตูด้านหลังฝั่งขวา คันโยกที่ใช้เปิดปิดภายในตัวรถยังใช้งานได้ปกติ และรถที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียว พื้นที่ด้านล่างใช้เก็บสัมภาระ นอกจากนี้ ยังพบว่าล้อรถไม่ได้มีการระเบิด ซึ่งพบถังก๊าซ 11 ถัง และมีท่อก๊าซหลุดเป็นเหตุให้เกิดก๊าซรั่ว รวมถึงพบว่าเพลาล้อหน้าหักครูดกับถนน ซึ่งอยู่ระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับกองพิสูจน์หลักฐานร่วมกันวิเคราะห์สรุปหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแถลงให้ทราบต่อไป

ต่อมา นายจิรุตม์ ได้เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้มี 5 ข้อสั่งการ ได้แก่ 1.สั่งการให้เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ก๊าซ CNG มาตรวจสภาพภายใน 60 วัน จำนวน 13,426 คัน 2.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางทั้งระบบ ซึ่งมีความหละหลวมมากกว่ารถโดยสารประจำทาง 3.ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือกรณีมีความจำเป็นต้องใช้รถนำนักเรียนหรือผู้สูงอายุนอกพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของรถก่อนเดินทางทุกครั้ง 4.ออกกฎหมายเพิ่มเติมเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้มีพนักงานประจำรถ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสารในเหตุการณ์วิกฤติ 5.ออกกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการเหมือนบนสายการบิน

โดยภายในห้องประชุมกรรมาธิการ ได้มีการตั้งคำถาม ซึ่งนายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ สส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย และนายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน ได้ซักถามถึงการตรวจสอบจำนวนถังก๊าซภายในรถ ที่พบว่ามีถึง 11 ถัง อีก 5 ถังที่เกินมา ได้เพิ่มเข้ามาในขั้นตอนไหน การตรวจสภาพรถเป็นการตรวจทิพย์หรือไม่ เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ตรวจสอบสภาพรถจะไม่เห็นจำนวนถังที่เกินมา รวมถึงการจดทะเบียนครั้งแรกตั้งแต่ปี 2513 และมีการจดทะเบียนอีกครั้งในปี 2561 ได้มีการดัดแปลงสภาพไปมากเพียงใด

“ปี 2513 ผมยังไม่เกิดเลย มีอะไรคงเดิมบ้างในรถคันนี้ และเราต้องนับอายุของรถจากเวลาใดกันแน่” นายพีระเดช กล่าว

ขณะที่อธิบดีกรมขนส่งทางบก ยืนยันว่ามีการติดตั้งถังก๊าซเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ 5 ถัง จากที่จดทะเบียนไว้ 6 ถังรวมเป็น 11 ถัง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของกรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเรื่องนี้  เพื่อดูว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

จากนั้น นายจิรุตม์ ได้ให้นายชีพ อธิบายเหตุการณ์และข้อมูลเพิ่มเติมว่า รถคันที่ประสบเหตุถังที่รั่วไหลเป็นถังหมายเลข 8 ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายการตรวจสอบของวิศวกร ถังที่ได้รับการตรวจสอบ มีเพียงครั้งที่ 1-6 ซึ่งทางหมายเลข 8 เป็นถังที่อยู่นอกระบบ ซึ่งต้องเป็นการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจต่อไป

นายชีพ ยังกล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการบริษัทชินบุตร พบว่า ใบผู้ประกอบการขนส่ง มีรถในกำกับดูแล 2 คัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคันที่ประสบอุบัติเหตุ เบื้องต้นทางกรมการขนส่งได้ระงับใบประกอบอนุญาต เพราะรถอีกคันก็ไม่สามารถใช้งานได้ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพราะมีลักษณะรถที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งขนส่งจังหวัดได้ออกคำสั่งให้เอารถมาตรวจ ที่จังหวัดลพบุรี เพราะมีเครื่องมือที่พร้อมกว่าซึ่งคาดว่าน่าจะนำเข้ามาตรวจประมาณ14.00 -15.00 น.

ด้านนายจิรุตม์ กล่าวเสริมว่า คนที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องถังก๊าซเกินจำนวน ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถ เบื้องต้นได้มีการพักใช้ใบอนุญาตจนกว่าผลสอบสวนจะออก 2.คนขับรถ ให้พักใบอนุญาตจนกว่าจะสอบสวนเสร็จ ถ้ามีความผิดก็เพิกถอนใบอนุญาต 3.วิศวกรผู้ตรวจสอบถังแก๊ส ระงับการดำเนินการทั้งหมด 4.บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) กรมได้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และดึงตัวเข้ามาทำงานที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผิดหรือไม่ผิดก็ต้องมาดูกัน โดยในบริษัทชินบุตร ทราบว่าเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน กับผู้ประกอบการ ก็ได้มีการเพิกถอนระงับใบอนุญาตเป็นผู้จัดการด้านความปลอดภัยแล้ว เพราะมีความบกพร่องในหน้าที่ที่ปล่อยให้เกิดเหตุได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่ระหว่างการสอบสวน หากพบว่ามีความผิด ในเรื่องของคำสั่งปกครอง ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ในคดีอาญาก็ดำเนินการไปถ้าเจ้าหน้าที่มีความผิดกรมก็ดำเนินการทางวินัยต่อไป ส่วนของเอกชนก็จะต้องโดนทั้งแพ่งทางอาญา ส่วนโทษทางปกครองก็คือ ต้องถอนใบอนุญาตประกอบการ ถอนใบอนุญาตขับรถ ถอนใบรับรองการติดตั้งก๊าซ ถอนการเป็นผู้จัดการด้านความปลอดภัย

ช่วงหนึ่ง นายพีระเดช ทักท้วงว่า สิ่งที่ถามไปยังไม่ได้รับคำตอบ ที่ถามว่ารถคันนี้จดทะเบียน 2 ครั้ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่ปีไหน ทำให้ นายชีพ ได้ชี้แจง ว่า รถจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อปี 2513 และมีการจดทะเบียนอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างจะยาวนาน ด้วยหลักเกณฑ์ที่รถสามารถ ยังใช้งานอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ 54 ปีนั้น เพราะในระหว่างนี้ได้มีการจดทะเบียนเป็นรถประเภทอื่นๆ ไว้ และเมื่อมีการดัดแปลงคลัสซีถือเป็นตัวหลักของรถ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของคน เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ตัวถังผุกร่อนไม่สามารถใช้งานได้ เจ้าของก็จะไปแจ้งเปลี่ยนแปลงโดยนำรถคันดังกล่าวไปที่อู่ต่อรถ หรืออู่ปรับปรุงรถ สิ่งที่ยังคงอยู่คือโครงคลัสซีรถ และนำเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าใส่เข้าไป เปลี่ยนตัวถังเปลี่ยนเก้าอี้และติดตั้งอุปกรณ์ปรับอากาศ หากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว เจ้าของรถก็จะให้วิศวกรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเพื่อจะนำมาตรวจสภาพและจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ส่วนประตูฉุกเฉินได้มีการให้มีการตรวจรถสาธารณะปีละ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ นายชัชวาล ยังได้ท้วงด้วย ว่า อธิบดีและคณะยังตอบคำถามไม่ครบ พร้อมเน้นย้ำคำถามเรื่องการตรวจทิพย์ว่าได้ตรวจจริงหรือไม่ ตำแหน่งที่ติดถังก๊าซก็อยู่ในห้องโดยสารที่มีแค่ผนังกั้นไว้ พอก๊าซรั่วก็จะลอยขึ้นสูง ได้มาตรฐานหรือไม่ และรถลักษณะนี้ในบริษัทมีอีกกี่คัน

โดยนายจิรุตม์ ได้ตอบว่า เรื่องการตรวจสอบจำนวนถังก๊าซ ตนสามารถยืนยันโดยระบบได้ แต่ยืนยันในตัวบุคคลไม่ได้ เพราะก็เพิ่งต้องโทษ สั่งย้ายไป 2 คน และยืนยันว่าหากมีความผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และนอกจากรถคันที่เกิดเหตุแล้ว ก็มีอีก 1 คันที่มีการติดตั้งถังก๊าซแบบเดียวกันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม  ระหว่างการประชุม กมธ.ได้รุมซักถามอธิบดีและคณะ โดยเฉพาะนายชัชวาลและนายพีระเดช จนนายครูมานิตย์ได้พยายามรวบรัดการซักถามของ กมธ. ที่หากลงรายละเอียดมากไป อาจจะไม่สะดวกสำหรับกรมการขนส่งที่มาตอบทั้งหมด พร้อมเสนอให้รอการชี้แจงของ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และตนเห็นใจอธิบดีที่ต้องรับโทรศัพท์จากรัฐมนตรีตลอดเวลา ขณะที่ นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ สส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ. ได้ช่วยกรมการขนส่งทางบกชี้แจงในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพรถ โดยอ้างว่าตนเองเคยนำรถไปซ่อมกับญาติหลายครั้ง จึงพอมีประสบการณ์

“จากที่เห็นเป็นถังก๊าซ CNG ขนาดใหญ่ ต่อให้บรรจุก๊าซเต็ม โยนลงกองไฟ ยังไม่ระเบิดเลย ถ้าไม่มีก๊าซรั่ว  แต่ในส่วนที่เกิดประกายไฟขึ้นมาไม่แน่ใจว่าเป็นส่วนไหน แต่ก๊าซ CNG มีลักษณะติดไฟยาก” นายเชิงชาย กล่าว 

ต่อมา นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยภายหลังเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ว่าวันนี้ตนได้รายงานชี้แจงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ในกรณีรถบัสทัศนศึกษาเกิดเหตุเพลิงไหม้ ว่ามีอะไรในตัวรถที่บกพร่องบ้าง ทั้งนี้ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้ กมธ.รับทราบ รวมถึงมาตรการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และมาตรการที่ใช้กำกับดูแลป้องกันเหตุในลักษณะนี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเป็นลักษณะข้อเท็จจริง 

ส่วนการตรวจสภาพรถ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการขนส่งทางบก ได้สํารวจพื้นที่ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่รายละเอียดจากการสอบสวน ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหรือหลัง ขออนุญาตให้อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวน ส่วนการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกรณีนี้ ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของรถ ผู้ขับรถ วิศวกรผู้ตรวจสอบการทดสอบถังแก๊ส รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบของ จ.สิงห์บุรี ตอนนี้ได้ดำเนินการในเบื้องต้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 

ทั้งนี้ ได้มีการพักใช้ใบอนุญาตของผู้ประกอบการ ทําให้ไม่สามารถดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะได้ ในระหว่างการสอบสวน ส่วนผู้จัดการด้านความปลอดภัย ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยรายวันของบริษัท ก็ได้พักใช้ใบอนุญาต และใบรับรอง ของผู้จัดการด้านความปลอดภัย 

ส่วนวิศวกรผู้รับรองการทดสอบถังแก๊ส ขณะนี้รับรองใบอนุญาต ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานกิจการนี้ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทดสอบถังแก๊ส และตรวจสอบตัวรถ ขณะนี้ได้ดำเนินการโยกย้ายให้ออกจากพื้นที่ มาช่วยราชการที่กรม และได้ส่งคณะกรรมการสอบสวน เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเกิดขึ้นก่อนหลังนั้น ทางพนักงานสอบสวนจะไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้ สิ่งที่พบและสำคัญที่สุด คือถังแก๊สตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งรถคันเกิดเหตุ ได้แจ้งจดทะเบียนว่ามีถังแก๊ส 6 ถัง แต่ทางพนักงานสอบสวน ไปตรวจสอบดูแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า มีถังแก๊สเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ 5 ถัง โดยต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าเกินมาได้อย่างไร ช่วงเวลาใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ต้องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการในเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการสอบสวน นายจิรุตม์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ดําเนินการสืบสวนทั้งหมด ทั้งสาเหตุในการเกิดเหตุ และหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏ แต่ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก ต้องสอบสวนวิธีปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ เพราะหลักเกณฑ์ของกรม มีวิธีปฏิบัติทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ของกรม ต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของกรมให้หมด ว่าที่ดำเนินการไปนั้น ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทั้งหมดหรือไม่

เมื่อถามว่า ได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อตรวจสอบบ้างหรือไม่ นายจิรุตม์ กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องวิธีปฏิบัติหลักเกณฑ์ ว่ามีใครหลวมตรงไหน และกำหนดให้รายงานภายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่วนเรื่องการสอบสวนเป็นหน้าที่ของอาญา

เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ของกรมขนส่งฯ มีส่วนรู้เห็นในการดัดแปลงรถ มีความผิดถึงขั้นใด นายจิรุตม์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ขอให้เป็นเรื่องของการสอบสวน

TAGS: #ไฟไหม้รถทัศนศึกษา #ไฟไหม้รถบัส #กมธคมนาคม #กรมการขนส่ง