“ทวี” บอก ปล่อยตัว “บุญทรง” เป็นอำนาจ คณะกรรการพักโทษ คนอื่นๆ ในคดีจำนำข้าว ก็ถูกพักโทษเช่นกัน ปัดปูทาง "ยิ่งลักษณ์" บอกกลับมาต้องช่องทางกฎหมายอย่างเดียว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยกรณี การพักโทษ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ในส่วนอื่น รวมถึงข้าราชการ มีการพักโทษด้วยหรือไม่ ว่า ถ้าใครครบเกณฑ์ก็น่าจะมี รายละเอียดได้บอกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รวบรวมประเด็นและชี้แจงไปแล้ว ซึ่งแนวทางการปฏิบัติก็เหมือนเดิม พูดไปเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ซึ่งในส่วนของการพักโทษกรมราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตามกฎหมายการพักโทษ แต่ยังมีโทษอยู่ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของกฎหมาย ในอดีตอาจจะไม่มี แต่ขณะนี้ก็จะมีเกณฑ์คร่าวๆ คือ 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 , 2 ใน 3 ซึ่งในส่วนของนายบุญทรง บางคนบอกว่าโทษดูเยอะ แต่ถูกพักโทษเพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษมาสี่ครั้ง เหลือโทษ 10 ปี ถูกลงโทษมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน เหลือประมาณ 3 ปี โดยการพักโทษจะถือภูมิลำเนา ของผู้อุปการะ ซึ่งในกรณีของนายบุญทรง ผู้อุปการะคือบุตรชาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยติดกำไลอีเอ็ม และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนคนอื่นๆ ในคดีจำนำข้าวและข้าราชการมีหลายคนที่ได้พักโทษ เพราะเราพยายามไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนใหญ่กฎหมายการพักโทษเป็นการบริหารของกรมราชทัณฑ์ ไม่มาถึงตัวรัฐมนตรี การพักโทษไปสั่งการไม่ได้ เป็นรูปแบบของคณะกรรมการ มีคณะอนุกรรมการ พิจารณาพักโทษ ถ้าไม่มีมติเอกฉันท์ ก็ต้องทบทวน ซึ่งคณะกรรมการจะมาจากกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ ปปส. แพทย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า โทษของนายบุญทรง พักโทษประมาณเกือบ 3 ปี มีข้อห้ามไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต แต่เดินทางออกนอกจังหวัดเชียงใหม่จะต้องขออนุญาต
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าโทษจำคุกจำนวนมาก แต่ติดจริงไม่กี่ปี และได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี ออกตัวว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ พร้อมเล่าให้ฟังว่า เพิ่งพบกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาเลเซีย ได้บอกว่า ในปีก่อนเรือนจำมีนักโทษกว่า 70,000 ราย ถูกพักโทษประมาณ 30,000 ราย แต่ปีที่จะถึงนี้ 70,000 รายจะได้รับการพักโทษ เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ก้าวพลาด มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะกรณีผู้สูงอายุ เราเชื่อว่าไม่การทำผิดซ้ำ เราใช้หลักอาชญาวิทยา ซึ่งกฎหมายกรมราชทัณฑ์ แม้แต่ตัวรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจ มีแค่ทราบ ที่สำคัญเป็นเรื่องของคณะกรรมการ กฎหมายถูกออกแบบในปี 2560 ซึ่งอาจจะออกแบบโดยไม่ไว้ใจ คดีจำนำข้าวอยู่แล้ว จึงมีการศึกษาวิจัย คุณสมบัติของคณะกรรมการพักโทษจึงมาจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำจนถึงศาล แต่การพระราชทานอภัยโทษไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์
เมื่อถามว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะสามารถกลับมาในช่องทางไหนบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ช่องทางกฎหมายอย่างเดียว คนที่กลับมาจะต้องไปรายงานตัวที่ศาล ซึ่งจะต้องมีหมายขังและเข้าไปสู่กระบวนการ จะไม่มีอะไรพิเศษ ถ้าจะมีกรณีพิเศษคือ มีการอาการป่วยก็ไปรักษา แต่คนเรามันไม่ได้ป่วยได้ทุกคน ต้องไปตามความเป็นจริง
เมื่อถามย้ำว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เหมือนกับนายทักษิณใช่หรือไม่ เพราะอายุยังไม่ถึง 60 ปี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนยังไม่เคยได้รับการประสานเรื่องนี้ ย้ำว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า คนที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้ จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการปูทางให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การพักโทษแต่ละครั้งประมาณพันกว่าคน รวมถึงคดียาเสพติดด้วย อย่างกรณียาเสพติดถ้ากลับไปมั่วสุมกับกลุ่มเดิม เราก็จะยกเลิกการพักโทษ วันนี้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมเราให้ความสำคัญเรื่องการไม่กลับมาวงจรการกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งมีตัวเลขที่น่าตกใจคือ บางครั้งคนที่อยู่ในเรือนจำ พอปล่อยออกไปมีการกระทำผิดซ้ำปีแรกเกือบ 17% พอปีที่ 3 เกือบ 40% แต่คนที่เราใช้วิธีคุมประพฤติมีการกระทำผิดซ้ำไม่ถึง 9% เท่านั้น ดังนั้น สังคมและชุมชนจึงมีความสำคัญ