“สมศักดิ์” ถอดบทเรียนปมทำร้ายผู้ป่วย ขันน็อตแผนปฎิบัติ-มาตรฐาน หวังสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ลั่น ต้องเป็นรายสุดท้าย ยัน ยังไม่ได้สั่งย้าย ผอ.รพ.กันทรลักษณ์ ชี้ เป็นอำนาจของสายบังคับบัญชา
วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยรุนแรง สำหรับพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ บุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมที่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ ทุกท่านน่าจะได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับกรณีเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่สนใจ และก่อให้เกิดข้อห่วงใยจากสังคม ต่อความปลอดภัยในสถานพยาบาลเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลระหว่าง ปี 2560 - 2567 พบว่า มีกรณีเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล จำนวน 99 เหตุการณ์ ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน และก่อความไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ของสถานพยาบาล และขวัญกำลังใจของบุคลากรอีกด้วย
“กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการสนับสนุนให้บุคลากรได้ทบทวนแนวทางปฏิบัติ ของการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงจะก่อความรุนแรง ทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุรา เพื่อให้ทั้งพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ได้ทำงานอย่างปลอดภัย มั่นใจ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งหวังว่า การประชุมในวันนี้ จะช่วยยกระดับความเชื่อมั่น และทำให้ทุกโรงพยาบาล เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนหวังว่า จะเป็นรายสุดท้าย ซึ่งแนวทางการปฎิบัติทั้งหมด ต้องมีการทบทวน และนำเป็นกรณีศึกษา โดยขอให้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันศึกษา แก้ไข และพัฒนา เพื่อให้ประชาชน ได้รับความปลอดภัย และหายเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งตนเชื่อมั่น บุคลากรสาธารณสุข เพราะในทางกลับกัน บุคลากรทางการแพทย์ ก็ถูกทำร้ายจำนวนมากเช่นกัน จึงต้องมีการสร้างมาตรฐาน เนื่องจากผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง เป็นการแสดงออกถึงการขาดสติ ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ โดยผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง มี 4 ลักษณะ 1.รุนแรงทางคำพูด 2.รุนแรงต่อตนเอง 3.รุนแรงต่อผู้อื่น 4.รุนแรงต่อสิ่งของ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง คือ เริ่มต้นด้วยการพูดคุย โดยพูดคุยด้วยท่าทีเป็นมิตร เพื่อให้สงบ พร้อมให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก จากนั้น จะเป็นการจำกัดพฤติกรรม เช่น การจับผู้ป่วย การผูกมัดผู้ป่วย และการนำผู้ป่วยเข้าห้องแยก ซึ่งการผูกมัดผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่ 4 คน ต้องมีผ้าเฉพาะผูกมัดบริเวณข้อมือ/ข้อเท้า อย่าตรึงบริเวณหน้าอก ควรผูกมัดบริเวณเอว ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเปิดการประชุม ได้มีการจำลองสถานการณ์ดูแลผู้ป่วยรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ได้ปฎิบัติตามขั้นตอน ทั้งเริ่มต้นด้วยการพูดคุย และเข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการผูกมัดผู้ป่วยด้วยผ้า ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามมาตรฐาน ไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การประชุมวันนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น ในขณะที่บุคลากรที่ดูแลก็ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการทบทวน และทำความเข้าใจมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก โดยตนมองว่า ถ้าเรามีมาตรฐาน การเรียนรู้ และแนวปฎิบัติที่ชัดเจน ก็จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ รวมถึงผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน ก็ต้องทราบว่า ตรงไหนควรเสริมเพิ่มเติมให้เกิดความแข็งแกร่ง เพราะในวันข้างหน้า หากเกิดเหตุลักษณะนี้ ผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่า จะสร้างความเชื่อมั่นประชาชนอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ซึ่งประชาชน ก็จะคลายความกังวล โดยตนเป็นทั้งประชาชน และผู้ที่อยู่ในระบบราชการ จึงมีความเข้าใจเป็นอย่างดี
เมื่อถามถึงการเรียกตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรลักษณ์ เข้ามาส่วนกลาง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้สั่งย้าย แต่เรียกตัวเพื่อมาร่วมเป็นวิทยากรการประชุมเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการจะสั่งย้ายหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของสายบังคับบัญชา