"พิพัฒน์"เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานไทยตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต

"พิพัฒน์" รมว.แรงงาน วาง 7 แนวทาง เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ การพัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมในอนาคต ที่งานสัมมนา The Better Economic Forum 2025 ในโอกาสครบรอบก้าวขึ้นสู่ปีที่ 3 สำนักข่าว The Better โดยมีแนวทางดังนี้

1.กระทรวงแรงงานมุ่งเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นกระทรวงที่เน้นด้านสังคมเพียงอย่างเดียว มาเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ โดยดูแลแรงงานกว่า 40 ล้านคนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีแนวทางสำคัญในการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพยังสามารถทำงานต่อไปได้ พร้อมทั้งปรับเพดานการเก็บเงินเข้าประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 17,500 บาท เพื่อรองรับการพัฒนาระบบสวัสดิการให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

2. การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านแรงงานในระดับอาเซียน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น AI, Digital, Robot และ Semiconductor กระทรวงแรงงานร่วมมือกับกระทรวง อว., กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ลงนาม MOU เพื่อผลิตบุคลากรด้าน Semiconductor กว่า 500,000 คน ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

3. แนวทางการสนับสนุนแรงงานผู้สูงอายุและคนพิการ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย กระทรวงแรงงานจึงให้ความสำคัญกับการขยายอายุเกษียณ รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้กลับมาทำงานในสายอาชีพที่ยังสามารถให้คุณค่าได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพทางสมองแต่ขาดความสามารถทางร่างกาย ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงโอกาสทางการทำงานในสายงานที่เหมาะสม

4. การสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนผ่านแนวคิด BCG Model กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG – Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมกับการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นหัวใจสำคัญตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย

5. การเตรียมแรงงานรองรับเป้าหมายภาคการท่องเที่ยวปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตั้งเป้าหมายไว้ 38 ล้านคน และรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท กระทรวงแรงงานได้พัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษารัสเซีย, ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต

6. กลยุทธ์การส่งออกแรงงานไทยสู่ต่างประเทศ การส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงแรงงาน โดยในปี 2567 มีรายได้จากการส่งออกแรงงานกว่า 250,000 ล้านบาท และคาดว่าในอนาคตจะสามารถสร้างรายได้มากถึง 500,000 ล้านบาทต่อปี กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายส่งแรงงานไปในภาคเกษตร, อุตสาหกรรม และก่อสร้าง โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางออกไปทำงาน ด้วยการคัดเลือกและอบรมให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศปลายทาง

7. การ Upskill และ Reskill เพื่อเพิ่มโอกาสและรายได้ของแรงงานไทย กระทรวงแรงงานเน้นการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประกาศอาชีพที่ต้องการทักษะสูงกว่า 129 สาขา ซึ่งแรงงานในกลุ่มดังกล่าวจะมีรายได้มากกว่า 400 บาทต่อวัน และสูงสุดถึง 1,000 บาทต่อวัน การพัฒนาทักษะในระดับนี้จะช่วยให้แรงงานไทยสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TAGS: #TheBetter #พิพัฒน์ #แรงานไทย #พัฒนาฝีมือแรงงาน #อุตสาหกรรม