กสศ. เสนอ “บัตรประชาชนใบเดียวเรียนได้” แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กสศ. เสนอ “บัตรประชาชนใบเดียวเรียนได้” แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
กสศ. เสนอสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ใช้บัตรประชาชนใบเดียว เรียนได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมีงานทำ

เหล่าเด็กๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหลุดจากระบบการศึกษา อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อมองไปถึงอนาคต ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตอัตราการเกิดของประชากรต่ำ ทำให้ในอนาคตแรงงานที่ป้อนสู่ตลาดแรงงานยิ่งลดลง และเด็กๆ ในอนาคตจะต้องเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน ดังนั้นการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทำให้เกิดการสูญเสียทั้งภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม ในอนาคตเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นบุคลากรที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้อนตลาดแรงงานได้ หากไม่ได้ลงทุนในการศึกษาให้เด็กๆ ในปี 2030 มูลค่าเศรษฐกิจที่จะสูญเสียอยู่ที่ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567-2568 พบว่าจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม เด็กจากครัวเรือนยากจนยังมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2 เท่า กสศ. จึงเสนอให้มีการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยใช้บัตรประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงการมีงานทำ ทั้งนี้ ยูเนสโกระบุว่า หากสามารถลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานลงเพียง 10% จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้ถึง 1-2% ต่อปี

ข้อมูลเชิงลึกด้านการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2567 ประเทศไทยมีนักเรียนในระดับก่อนประถมศึกษาและภาคบังคับ (อายุ 3-14 ปี) จำนวน 8.5 ล้านคน โดยกว่า 3 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และ 1.34 ล้านคนเป็นเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน และนราธิวาส

แม้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,133 บาท/คน/เดือน (เฉลี่ยวันละ 37 บาท) แต่การสำรวจโดยครูทั่วประเทศพบว่ากว่า 38.77% ของนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่เนื่องจากปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และครัวเรือนส่วนใหญ่มีสมาชิกที่ต้องพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ (44.43%) คนว่างงาน (27.3%) และผู้พิการหรือผู้ป่วยเรื้อรัง (12.41%)

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กสศ. ได้ดำเนินโครงการทุนเสมอภาค (Conditional Cash Transfer) ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งช่วยให้เด็กในโครงการยังคงอยู่ในระบบการศึกษาในอัตราสูงถึง 97.88% อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำคัญ ได้แก่

1. มีเพียง 13.49% ของนักเรียนยากจนที่สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2 เท่า

2. นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวน 1.1 ล้านคนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

3. ปัจจัยทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของเด็กมีแนวโน้มซับซ้อนขึ้น ทำให้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต

สถานการณ์เด็กนอกระบบการศึกษา

จากการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย พบว่าปี 2567 มีเด็กอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาจำนวน 982,304 คน ลดลงจากปีก่อนที่มี 1.02 ล้านคน โดยมีเด็ก 304,082 คนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบต่อเนื่องถึง 590,557 คน และเด็กที่เพิ่งหลุดออกจากระบบอีก 391,747 คน โดย 39.46% อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่ช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาคือการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้” และการให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

แนวทางแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะของ กสศ.ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. สร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา

• บูรณาการข้อมูลรายบุคคลระหว่าง 11 หน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 3 ล้านคน และเด็กนอกระบบ 9 แสนคน

• บูรณาการสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษา สุขภาพ สังคม และแรงงาน เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ

• เพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) เพื่อช่วยลดต้นทุนการศึกษาของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

2. ยกระดับบัตรประชาชนเป็น “Learning Passport”

• ให้บัตรประชาชนเป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาต่อเนื่องทั้งในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย

• จัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตรงไปยังเลข 13 หลักของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละคน

• สามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาในระบบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเครดิตในการศึกษาต่อและการสมัครงาน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและมุมมองจากยูเนสโก

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ร่วมกับ กสศ. และ OECD พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้สะสมมาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ดังนั้นการพัฒนา PISA ควรเริ่มจากระดับประถมศึกษาโดยใช้เครื่องมืออย่าง O-NET เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน

ขณะที่ ยูเนสโกเปิดเผยข้อมูลจากรายงาน The Price of Inaction ระบุว่าหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ภายในปี 2030 ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาจะสูงถึง 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรวมกัน “การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นกลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพียงลดอัตราการออกจากโรงเรียนและจำนวนเด็กที่มีทักษะต่ำลง 10% จะช่วยเพิ่ม GDP ได้ 1-2% ต่อปี”

อ่านรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และแนวทางสำคัญปี 2568 ได้ที่: https://www.eef.or.th/publication-050225/

TAGS: #กสศ. #การศึกษา