"เท้ง" ชี้รัฐบาลรีบดัน พ.ร.บ.สถานบันเทิงฯ หวั่นเอื้อกลุ่มทุน-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด - หนุนใช้ประชามติ ด้าน “ภาคประชาชน” ยื่นสภาฯ ยับยั้ง พร้อมสอบจริยธรรม นายกฯ พ่วง 2 ขุนคลังบิดเบือนปกปิดข้อมูล
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เผย กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุระเบียบวาระการพิจารณาพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ในวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) ว่า เป็นการบรรจุวาระที่ผิดปกติ โดยอาศัยอำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร สอดรับรัฐบาล ก็ได้มีการออกมาแถลงข่าวว่า จะเร่งรัดการพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนปิดสมัยประชุม จึงสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า เหตุใดรัฐบาลจึงมีความเร่งรีบเช่นนี้ ทั้งที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมายอมรับว่า การศึกษาผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการยังไม่เสร็จสิ้น และประชาชนเอง ก็ยังกังวลว่า ควรจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นเสียงอย่างรอบด้าน ซึ่งตนเองก็มองว่า กระบวนการออกเสียงประชามติ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่เปิดกว้าง และเป็นธรรม
ส่วนท่าทีของฝ่ายค้านจะดำเนินการจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ผู้นำฝ่ายค้าน ย้ำว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจ หรือนโยบายภาครัฐในการเกื้อกลุ่มทุน หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ข้ออ้างการแก้ปัญหาการพนันในประเทศโดยการนำธุรกิจสีเทา มาถูกโอบอุ้มโดยร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจเป็นวิธีการที่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด และรัฐบาล กำลังจะใช้นโยบายของรัฐ ในการเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่
และจะถึงขึ้นที่ฝ่ายค้านจะวอล์กเอ้าท์ออกจากการประชุม หรือจะขอนับองค์ประชุมเพื่อยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายนี้หรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้แจงว่า กระบวนการในสภาอาจจะต้องรอพิจารณาที่หน้างาน เพราะในขณะนี้ ยังมีการเจรจาระหว่างวิปอยู่เรื่อย ๆ ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ฝ่ายค้าน ไม่อยากเห็นกระบวนการที่เร่งรัดผิดปกติในสภา และอยากให้มีการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา
ส่วนวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) จะมีมวลชนมากดดันที่หน้ารัฐสภา จะลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่หรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ เห็นว่า รัฐบาล ควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนอย่างรอบด้าน แต่ตนเองก็อยากให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภามากกว่า
ผู้นำฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงเงื่อนไขตามร่างกฎหมายฯ ที่กำหนดคนไทยที่จะเข้าใช้บริการกาสิโนจะต้องมีบัญชีเงินฝากประจำ 50 ล้านบาทว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ขณะนี้ ฝ่ายค้านกำลังศึกษาอยู่ พร้อมย้ำว่า ไม่ควรชี้นำ หรือพุ่งเป้าไปยังผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับสัมปทาน หรือผู้ที่จะเข้าใช้บริการ ดังนั้น ก็จะต้องศึกษาอย่างรอบด้าน
ขณะเดียวกัน วันนี้ (2 เม.ย.) นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ในฐานะตัวแทน 100 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการบรรจุเข้าสู่ระบบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 เม.ย.นี้แล้วว่า จากการที่รัฐบาล พยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยอาการรีบร้อน เร่งรัดมากจนผิดสังเกต และตัดสินใจเดินหน้า กระทำสิ่งที่ฝืนกระแสคัดค้านของสังคม และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กรมีความเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการกระทำที่อสัตย์ อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น และบังคับให้ต้องมีกาสิโน และร่างกฎหมาย ก็มีการเขียนข้อกำหนดไว้อย่างหละหลวม และการผลักดันนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรของรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้มีการหาเสียงไว้กับประชาชน และยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างรอบด้านเพียงพอ รวมถึงนโยบายการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีคาสิโนเป็นภาคบังคับนั้น ก็เป็นความเห็นแก่ได้ของรัฐบาล ที่คำนึงแต่เรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างอับจนปัญญาที่จะหาวิธีอื่นที่สร้างสรรค์ ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่มากพอ และนำอนาคตของสังคมไทยไปเสี่ยง ไร้มาตรการในการปกป้องสังคมที่วางใจได้ ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร จึงขอเรียกร้องต่อรัฐสภา และพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ปฏิเสธการรับร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การพิจารณา และเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้าน ดำเนินการยับยั้งกฎหมายที่ไม่เป็นคุณต่อสังคม และยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ ภาคประชาชน กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ เพื่อให้รัฐบาลจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นนี้ หรือขอให้ฝ่ายค้าน ได้เสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องนี้โดยช่วยเหลือภาคประชาชนท่านหนึ่ง
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะตัวแทนนิสิต นักศึกษา และนักวิชาการส่วนหนึ่ง ที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เห็นว่า การที่รัฐบาลเร่งรีบผลักดันเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอทเพล็กซ์ ซึ่งมีกาสิโนด้วยนั้น ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม และยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบอย่างรอบด้านเพียงพอ ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมา การมีกาสิโนรีสอร์ท ในนิวเจอซีย์ สหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยต้องปิดตัวลงอย่างมากมาแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ยังได้ยื่นขอให้สมาชิกรัฐสภา ได้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการทางการเมืองนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าเข้าขาดกระทำผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ด้วย เพราะการที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนขัดแย้งกันเอง ถึงวัตถุประสงค์ของเอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บิดเบือนข้อมูล หรือปกปิดข้อมูลข้อมูล เข้าข่ายไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขัดต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ข้อ 5 (5) บิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อผลประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และข้อ 6 (5) ไม่เปิดเผยหรือให้ข้อมูลข่าวสารอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และ ไม่บิดเบือน แก่ประชาชน