รมว.ต่างประเทศลงพื้นที่ชายแดนบุรีรัมย์ ย้ำ "ช่องสายตะกู" คือประตูเศรษฐกิจใหม่เชื่อมไทย-กัมพูชา มูลค่าการค้าปี 67 แตะ 180,000 ล้านบาท พร้อมเปิดใจรับฟังปัญหาเพื่อผลักดันการพัฒนาให้เข้าถึงประชาชน
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเดินทางไปยังบ้านของนางพฤกษา มีรัมย์ ภรรยาของนายนิสันต์ มีรัมย์ แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบในอิสราเอล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจาและติดตามกับรัฐบาลอิสราเอล จนท้ายที่สุดรัฐบาลอิสราเอล ยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือ และมอบสิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวนายนิสันต์ ตั้งแต่มารดา ภรรยา และบุตร 1 คน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยาไปตลอดชีวิต ประกอบไปด้วยเงินช่วยเหลือรายเดือน และประจำปี
นายมาริษ ระบุว่า การมาเยี่ยมครอบครัวของนายนิสันต์ในครั้งนี้ เพื่อมาให้กำลังใจ และแจ้งความคืบหน้าถึงสิทธิประโยชน์ และความช่วยเหลือที่ครอบครัวจะได้รับ
ทั้งนี้ การช่วยเหลือและการเยียวยาแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบในเหตุความรุนแรงอิสราเอลเป็นสิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมา
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายมาริษ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา โดยมี พันเอกบุญเสริม บุญบำรุง รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี และนายเกรียงศักดิ์ สมจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้การต้อนรับ และรายงาน เพื่อติดตามศักยภาพของด่านดังกล่าว ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาดการค้าชายแดนที่ช่องสายตะกูปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 60 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2568 มีมูลค่าราว 11 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชารวมทั้งหมดปี 2567 มีมูลค่าราว 180,000 ล้านบาท และสามารถส่งเสริมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อไปได้
นายมาริษ เชื่อมั่นว่า จุดผ่านแดนช่องสายตะกูเป็นประตูแห่งโอกาสในการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งพร้อมรับฟังความคิดเห็น และปัญหาจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไปผลักดันในโอกาสต่าง ๆ ต่อไป